9 เรื่องพึงระวัง จี้ปัดฝุ่น‘คลองไทย’ เส้นทางใหม่ขนส่งทางน้ำโลก

นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ อดีตประธานอนุกรรมาธิการ ด้านโลจิสติกส์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ความเห็นต่อเรื่อง “คลองไทย”ว่ามีข้อควรพึงระวัง ใน 9 เรื่องสำคัญ

ช่วงนี้เริ่มมีการพูดและเขียนถึงเรื่อง “คลองไทย” ผ่านสื่อทั้งในรูป Clip VDO หรือการให้สัมภาษณ์ ส่วนใหญ่มักจะเสนอสนับสนุนให้ขุดคลองไทย โดยอ้างข้อมูลเดิมว่าหากขุดคลองไทย จะทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำที่ยิ่งใหญ่ของโลก ฯลฯ

แนะอัพเดตข้อมูลใหม่

นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ อดีตประธานอนุกรรมาธิการ ด้านโลจิสติกส์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตคณะทำงานโลจิสติกส์ ในอนุกรรมาธิการโลจิสติกส์สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เรื่อง “คลองไทย”ตนเคยส่งรายงานสรุปต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่าควรจะนำรายงานการศึกษาของวุฒิสภาเมื่อปี 2549 มาพิจารณากันอย่างจริงจัง เพราะรายงานดังกล่าวจัดทำมานานแล้วเกือบ 15 ปี ข้อมูลต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ทั้งนี้แนวคิดในการขุดคลองไทยจะใช้เส้นทาง 9A เชื่อม 5 จังหวัด จากตรัง (สิเกา) ผ่านนครศรีธรรมราช พัทลุง กระบี่ และสงขลา (ระโนด) โดยเป็นคลองคู่ขนานออกและเข้า ขนาดความยาว 120-125 กิโลเมตร กว้าง 350 เมตร และลึก 30 เมตร ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเดินเรือเชื่อมฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย

ทั้งนี้จากข้อจำกัดของช่องแคบมะละกา ที่แม้จะเป็นเส้นทางการขนส่งทางน้ำสำคัญของโลก แต่ก็มีปัญหาหลายด้าน ได้แก่ 1.การจราจรหนาแน่นมาก (จากมีความกว้างเพียง 8.05 กม. ยาว 966 กม. ลึก 26-30 เมตร ช่องแคบที่สุด 2.9 กม.) 2.เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง 3.ปัญหาโจรสลัด 4.เรืออัปปาง 6.ตะกอน และ 7.บริเวณตื้นเขิน หากเกิดปัญหาข้างต้น การขนส่งผ่านช่องแคบจะหยุดชะงัก หรือช้า ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้จะขาดแคลนน้ำมันที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม สายเดินเรือมากกว่า 400 แห่ง จะเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกาไม่ได้ ท่าเรือกว่า 700 แห่งทั่วโลก รวมถึงไทย อาเซียน ตะวันออกกลางจะได้รับผลกระทบด้วย ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเดินเรือจะได้รับผลกระทบมากกว่า 4.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในแต่ละวัน

เซฟหมื่นล้านต่อเดือน

ดังนั้น “คลองไทย” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาการจราจรทางน้ำของโลก และของเอเชีย+อาเซียน โดยเป็นเส้นทางที่ประหยัดกว่า เร็วกว่า ปลอดภัยกว่า และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยจากการศึกษาคลองไทยจะให้ประโยชน์แก่โลก ไทย และอาเซียน คือ 1.ประหยัดค่าเชื้อเพลิงการขนส่งทางเรือ 10,000 ล้านบาทต่อเดือน (กราฟิกประกอบ) 2.ลดระยะเวลาในการขนส่ง 3-5 วัน (ถ้าผ่านช่องแคบมะละกาจะใช้เวลา 3 วัน ถ้าผ่านช่องแคบซุนดา จะใช้เวลา 5 วัน หากผ่านช่องแคบลอมบอกจะใช้เวลา 7 วัน) และ 3.ปลอดภัยมากกว่าทั้งจากเรืออัปาง อุบัติเหตุ หมอก การเกยตื้น และโจรสลัด

9 เรื่องควรระวัง

อย่างไรก็ดีแม้การขุดคลองไทยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าและการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทย และเป็นประโยชน์ต่อการค้าโลก แต่ก็ต้องคิดทบทวนด้วยความระมัดระวัง เพราะโลกและประเทศไทยเมื่อปี 2549 กับปี 2563 เป็นต้นไปมีรูปแบบระบบเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การเมืองและสังคมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การจะขุดคลองไทยจึงต้องคิดทบทวนอย่างรอบคอบและต้องระวัง 9 เรื่องสำคัญดังนี้

  1. ประเทศที่มีส่วนได้เสียโดยตรงกับช่องแคบมะละกาโดยเฉพาะมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ คิดและมองอย่างไร
  2. อาเซียนคิดและมองอย่างไร เพราะถ้าไทยได้ประโยชน์มหาศาลจากคลองไทย อีก 9 ประเทศในอาเซียนคิดและมองอย่างไร
  3. จะเกิดปัญหาทางการเมือง/ความมั่นคงระหว่างประเทศและระหว่างภูมิภาคหรือไม่ ในเมื่อการขุดคลองไทยจะสอดคล้องกับนโยบาย BRI (Belt & Road Initiative) ของจีน ในขณะที่อเมริกากับยุโรปและออสเตรเลียอาจจะมองต่าง
  4. ขุดคลองแล้วจะมีบริษัทเรือหรือประเทศต่าง ๆ มาใช้บริการหรือไม่ เพราะมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ อาจจะพัฒนาปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ ในช่องแคบมะละการ่วมกัน แล้วมีสิ่งจูงใจให้เรือต่างๆ ใช้ช่องแคบมะละกาต่อไป
  5.  เทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ในอีก 5-10 ปี ข้างหน้า อาจจะมีเรือลำเล็กลงแต่ขนส่งสินค้าได้มากขึ้น หรือใช้พลังงานทางเลือกใหม่ราคาถูกลงเป็นเชื้อเพลิง เรือลำใหญ่อาจจะใช้ช่องแคบซุนดาหรือช่องแคบลอมบอก (ทั้ง 2 ช่องแคบอยู่ในอินโดนีเซีย) แทนช่องแคบมะละกา เพราะแล่นเร็วกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า
  6. จีน ญี่ปุ่ น เกาหลีใต้ อินเดีย ตะวันออกกลาง รัสเซีย บวกกับยุโรปและอเมริกา ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีจนสามารถคิดค้นระบบและรูปแบบการขนส่งทางบก เช่น Hyperloop บวกการขนส่งทางอากาศทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างภูมิภาครวดเร็วกว่า ค่าใช้จ่าย ถูกกว่าการขนส่งทางเรือ
  7. การค้า การลงทุนในโลกยุคใหม่อาจจะเปลี่ยนไป แนวโน้มการค้าการลงทุนแทนที่จะเป็นอาเซียนหรือเอเชีย อาจจะเปลี่ยนไปเป็นทวีปแอฟริกาหรืออเมริกาใต้ แนวโน้มการลงทุนจากประเทศที่พัฒนาแล้วไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา (FDI) อาจจะเปลี่ยนไป รูปแบบและวิธีการขนส่งสินค้าจึงอาจจะเปลี่ยนไปด้วย การขนส่งทางน้ำแทนที่จะเป็นยุโรป เอเชีย อาเซียน อาจจะเป็นยุโรป+เอเชีย ไปแอฟริกา อเมริกาใต้ การขนส่งทางน้ำจึงอาจไม่ผ่านคลองไทย
  8. การเปลี่ยนกระแสน้ำทางธรรมชาติจากเอลนีโญและลานีญาจะมีผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าทางน้ำระหว่างประเทศ
  9.  การขุดคลองอาจจะกระทบกับประเทศ สิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมของเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ เหมือนเช่นไฟป่าจากออสเตรเลีย อินโดนีเซีย กระทบต่อประเทศในอาเซียน

“ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะ ต้องดำเนินการให้ละเอียดรอบคอบ ดังนี้ 1.มีการศึกษารายละเอียดในรายงานการขุดคลอง ของวุฒิสภา ปี 2549 แยกแยะรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจน 2. พิจารณาผลกระทบ ผลได้ ผลเสีย ข้อที่ต้องทบทวนและข้อควรระวังต่างๆ อย่างรอบ คอบ รัดกุม 3. สื่อสารกับประชาชน 4. ตั้งคณะกรรมการระดับชาติจากทุกภาคส่วน 5.เพิ่มและขยายความคลองไทยเป็นเส้นทางใหม่เพื่อประโยชน์ร่วมกันของการขนส่งทางน้ำของอาเซียน หรือเอเชีย ทั้งนี้เพื่อสร้างแนวร่วมทางความคิดในการขุดคลองต่อไป”

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,598 วันที่ 6 – 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563