ระบบโลจิสติกส์กับพิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กงในไทเป
(National Palace Museum)
ผมได้มีโอกาสไปไต้หวันและชมพิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กงในเมืองไทเป ซึ่งถือเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่จัดเก็บและจัดแสดงสิ่งของที่เป็นสมบัติโบราณวัตถุและศิลปะต่าง ๆ ของชาวจีนมากกว่า 600,000 ชิ้นงาน ทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดแสดงโบราณวัตถุที่มากที่สุดในโลก จนอาจกล่าวได้ว่า นอกจากจะดูศิลปะและโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่สำคัญที่จีนแผ่นดินใหญ่แล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็จะเป็นที่เรียนรู้ศิลปะและโบราณวัตถุของจีนได้เช่นกัน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมโดยยูเนสโกในปี 1987
สิ่งของต่าง ๆ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ส่วนใหญ่นำมาจากในพระราชวังต้องห้าม (Forbidden City) ของปักกิ่งที่ขนย้ายมาในช่วงสงครามกลางเมืองจีน ซึ่งเป็นช่วงที่เจียง ไค เช็ก แพ้สงครามแล้วถอยไปอยู่ที่เกาะไต้หวัน ต่อมาได้มีการสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ซึ่งจัดเก็บและแสดงวัตถุโบราณตั้งแต่ 10,000 ปีก่อนยุค Neo Lithic (ยุคหินใหม่หรือ New Stone Age อยู่ในช่วงประมาณ 10,200-4,500/2,000 ปี ก่อนคริสตกาล) มาจนถึงราชวงศ์ Qing Dynasty
นอกจากโบราณวัตถุและศิลปะต่าง ๆ ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์แล้ว มีเรื่องที่น่าสนใจและน่าแปลกใจว่า การขนย้ายสิ่งของที่มีคุณค่าอย่างยิ่งจำนวนมหาศาลจากจีนไปยังไต้หวันนั้น ทำกันอย่างไร ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
ในช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นบุกยึดครองดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนในปี 1931 หรือเหตุการณ์วันที่ 18 ก.ย. (Mukden Incident)
แผ่นดินจีนในช่วงนั้นระส่ำระสายอย่างหนัก ผู้ทรงความคิดมองการณ์ไกลวิตกกังวลว่าสมบัติอันล้ำค่าของชาติในปักกิ่งจะถูกต่างชาติปล้นเอาไปหรืออาจจะมอดไหม้โดยการถูกเผา จึงวางแผนขนย้ายสมบัติชาติออกจากปักกิ่งไปไว้ในที่ปลอดภัยในเมืองทางใต้
จีนใช้เวลาราว 1 ปี จากปี 1932 คัดเลือกและจัดสมบัติของชาติบรรจุในลังไม้มากถึง 19,557 ลัง เป็นโบราณวัตถุจากพระราชวังกู้กงมากกว่า 13,000 ลัง จนกระทั่งในปี 1933 จึงขนย้ายไปเก็บไว้ที่นครเซี่ยงไฮ้ และหลังจากห้องเก็บสมบัติในวังเฉงเทียนที่หนันจิงสร้างเสร็จในปลายปี 1936 โบราณวัตถุเหล่านี้ก็ถูกขนย้ายไปไว้ที่นครหนันจิง ซึ่งเป็นนครหลวงของจีนในช่วงนั้น
ในปี 1937 กองทัพญี่ปุ่นบุกถึงนครเซี่ยงไฮ้ เจียง ไค เช็ก ได้สั่งการขนย้ายสมบัติชาติออกจากหนันจิงโดยด่วน โดยแบ่งลังสมบัติออกเป็น 3 เส้นทางไปยังมณฑลเสฉวนในภาคตะวันตก เมื่อถึงเสฉวนได้นำสมบัติชาติแยกเก็บไว้ตามเมืองต่าง ๆ และบางส่วนนำไปเก็บไว้ที่นครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงอีกแห่งของจีน
ในปี 1947 (หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945) สมบัติอันทรงคุณค่าของชาติจีนได้ขนกลับไปเก็บที่นครหนันจิง ภารกิจการขนย้ายสมบัติพระราชวังกู้กงลงใต้จึงสิ้นสุดลง แสดงถึงความยอดเยี่ยมของคนจีนในยุคนั้น และเป็นสิ่งที่ยากยิ่งบนโลก จนได้รับการยกย่องว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมโลก เพราะเป็นการขนส่งสิ่งของที่มีมูลค่าอันประเมินมิได้ไปถึงครึ่งแผ่นดินใหญ่ของจีนนานถึง 15 ปี และสิ่งของส่วนใหญ่ไม่สูญหายและแทบไม่เกิดความเสียหาย
ในเดือนธันวาคม ปี 1949 ผู้นำก๊กมินตั๋ง
ได้ขนย้ายสมบัติล้ำค่าของชาติจากเมืองต่าง ๆ ในจีนไปยังนครไทเปบนเกาะไต้หวัน 5 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 5,606 ลัง ในจำนวน 3,879 ลังนี้ ซึ่งบรรจุโบราณวัตถุรวมกันมากกว่า 250,000 ชิ้น ถูกนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์กู้กง นครไทเป ในส่วนของโบราณวัตถุของพระราชวังกู้กง ที่ขนไปจากหนันจิงไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์กู้กง ประกอบด้วยโบราณวัตถุมากกว่า 2,972 ลัง และมากกว่า 68,000 ชิ้น ในปี 1951 โบราณวัตถุที่เหลืออยู่ในหนันจิง รวมกว่า 10,000 ลัง ถูกทยอยขนกลับพระราชวังกู้กง ที่ปักกิ่ง ส่วนที่เหลืออีก 2,221 ลัง ยังเก็บไว้ที่นครหนันจิง
เมื่อมองย้อนกลับไปในปี 1949 หรือเมื่อ 74 ปี ที่แล้ว (นับจากปี 2566) มีข้อน่าสนใจว่าจีนใช้วิธีการด้านการจัดการในการบรรจุ ห่อหุ้ม จัดเก็บ ขนย้ายสมบัติของชาติเหล่านั้นอย่างไร เพราะ
- ต้องเร่งจัดการบรรจุ ห่อหุ้ม ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะกลัวญี่ปุ่นจะยึดหรือทำลาย
- แยกประเภทของโบราณวัตถุอย่างไร ในเมื่อยุคนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์จัดเก็บข้อมูล นอกจากการถ่ายภาพและการเขียนระบุชื่อประเภทของสิ่งของ
- ต้องขนย้ายไปยังสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง หลายครั้ง ทั้งทางน้ำ ทางบก อย่างไร ซ่อนหรือจัดเก็บอย่างไรจึงจะไม่ให้ญี่ปุ่นค้นพบหรือตรวจพบ
- ใช้วัสดุใดในการบรรจุของล้ำค่าเพื่อกันกระแทก มีเทคนิควิธีการในการห่อหุ้มสิ่งของอย่างไร
- ลังไม้ต้องประกอบอย่างไร จึงจะแข็งแกร่งทนทานรับแรงกระแทกระหว่างการขนย้ายและไม่หนักจนเกินไป จะแบ่งแยกจัดหมวดหมู่อย่างไรในเมื่อสมบัติชาติมีมากเป็นแสน ๆ ชิ้น มีมูลค่าและคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากกว่า 3,000 ปี
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า สมบัติของชาติจีนซึ่งมีการจัดเก็บและจัดแสดงที่พระราชวังกู้กงในเมืองไทเปเป็นโบราณวัตถุและศิลปะต่าง ๆ ที่มากกว่า 600,000 ชิ้น แต่ละชิ้นเปราะบาง อาจแตกฉีกขาดหรือปริร้าว ฯลฯ และหลาย ๆ ชิ้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นชิ้นเดียวในโลก เช่น “ลูกบอลงาช้าง” แกะสลักจากงาช้างชิ้นเดียวซ้อนกันเป็น 23 ชั้น หรือหินควอซหมูสามชั้นหยกรูปผักกาด ที่เลือกชิ้นหยกสีขาวและสีเขียวมาสลัก โดยมีแมลงเกาะและกินผักกาด ต้นกะหล่ำปลีแกะสลักจากหยก และแจกันลายดอกไม้สีน้ำเงิน
จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าในช่วงปี 1949 วัสดุห่อหุ้ม บรรจุ สิ่งของมีค่าต่าง ๆ จากจีนไปไต้หวัน น่าจะเป็นลังไม้ กล่องกระดาษ หรือกระดาษลูกฟูก หรืออาจจะเป็นเปลือกไม้ ฟางข้าวแห้ง โคลนแห้ง ดิน ใบไม้ หิน ทรายละเอียด ขี้เลื่อย ฯลฯ เพราะก่อนปี 1949 ยังไม่มีการใช้โฟมหรือพลาสติกอย่างแพร่หลายหรือหากจะมีก็ยังคงจะยังใช้ในวงการอุตสาหกรรมมากกว่าจะใช้เพื่อการขนย้ายสิ่งของมีค่าในยามสงคราม
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งอาจจะผิดก็ได้
ทั้งนี้ ต้องขอชมเชยว่า นอกจากโบราณวัตถุและศิลปวัตถุล้ำค่าที่เป็นสมบัติส่วนพระองค์ของกษัตริย์ในราชวงศ์ชิงแล้ว ระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ภายในพิพิธภัณฑ์ กู้กงยังมีการจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ชัดเจน แยกเป็นห้องหยก ห้องภาพเขียนและอักษรสาร ห้องสำริด ห้องพระพุทธรูป ห้องเครื่องปั้นดินเผา ห้องเครื่องเคลือบแล็คเกอร์แวร์ ห้องเครื่องทอง ห้องเครื่องประดับลงยา ฯลฯ มีการแบ่งงานชิ้นเยี่ยมจัดแสดงต่างหากในห้องพิเศษตรงกลาง ให้ชื่อว่า “ห้องจัดแสดงสิ่งมหัศจรรย์” ตัวอาคารมี 4 ชั้น ชั้น 1-3 แบ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงชั้นล่าง เป็นที่จำหน่ายตั๋ว ห้องทำงานเจ้าหน้าที่ ห้องล๊อกเกอร์ ห้อง Book Shop ฯลฯ
ระบบการไหลของผู้เข้าชมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อาจจะพูดได้ว่าทุกตารางเมตรของพื้นที่มีการจัดวางด้วยความเหมาะสมลงตัว สะอาด เป็นระเบียบ มีกล้องวงจรปิดเกือบจะทุกจุด มีเจ้าหน้าที่คอยสังเกตไม่ให้ผู้เข้าชมเดินหลงทาง และตักเตือนผู้เข้าชมหากส่งเสียงดัง
ภาพ สิ่งของที่จัดแสดง มีการจัดวางที่ครบองค์ประกอบทั้งด้านแสง ข้อความการอธิบาย ความโดดเด่นของสิ่งของ/ภาพ ที่วางให้คนได้ชม การเน้นจุดสำคัญของสิ่งที่จัดแสดง ทำให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้ ซึมซับวัฒนธรรมและความมีคุณค่าในสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมา ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจไม่ใช่เฉพาะชาวจีนเท่านั้น แต่เป็นสมบัติอันทรงคุณค่าของชาวโลกด้วย
ลูกบอลงาช้าง
เป็นงานที่ประณีต สวยงาม แกะสลักจากงาช้างชิ้นเดียว ซ้อนกันเป็น 23 ชิ้น |
|
ต้นกะหล่ำปลีแกะสลักจากหยก ราชวงศ์ชิง
เป็นก้อนหยกธรรมชาติสีขาว-เขียว ที่ช่างแกะ กะระยะของสัดส่วนของลำต้นและส่วนที่ใบให้กลมกลืนเสมือนหนึ่งเป็นต้นเดียวกัน โดยมีตั๊กแตนบนใบกะหล่ำปลี |
|
หมูสามชั้น ราชวงศ์ชิง
ช่างฝีมือแกะสลักหินควอร์ซโปร่งใสชนิดหนึ่งให้เห็นรอยย่นเล็กๆน้อยๆ นับไม่ถ้วนลงบนพื้นผิวด้านบนของชิ้นงาน ทำให้แทบจะแยกไม่ออกจากหนังหมูปรุงสุกรายละเอียดเหล่านี้ทำให้หินแข็งชิ้นนี้มีลักษณะที่แปลกประหลาดของหมูตุ๋นสดจากหม้อ ผิวของมันนุ่มและเนื้อเป็นริ้มที่ดูเหมือนเป็นวุ้นและเด้งได้ ผู้ชมภาพเกือบจะได้กลิ่นหอมชุ่มฉ่ำที่ลอยมาจากหินก้อนนี้ |
|
แจกันลายดอกไม้สีน้ำเงิน ราชวงศ์หมิง
แจกันลายดอกไม้สมัยราชวงศ์หมิง มีรายละเอียดที่ประณีต และการเคลือบทำให้มีประกายแวววาว |
ที่มาของข้อมูล/ภาพ
- ข้อมูลและภาพเกี่ยวกับการขนย้ายโบราณวัตถุและศิลปะต่าง ๆ ในบทความนี้ เรียบเรียงจาก silpa-mgr.com com thailibrary.in.th talontiew.com
- ภาพโบราณวัตถุมาจากการถ่ายภาพของผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ และมาจากหนังสือ The National Palace Museum
ติดต่อ สอบถาม ใช้บริการ นำเข้า-ส่งออก คลิกที่นี่ หรือ โทร 0-2742-7851-5 / 0-2742-7858-60 หรือ อีเมล์ mks@ebcitrade.com
15 ตุลาคม 2565
เกี่ยวกับผู้เขียน
*สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์-แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ชำนาญการด้านโลจิสติกส์ การค้าระหว่างประเทศและสิทธิประโยชน์ภาษีอากร