เศรษฐกิจอเมริกาทรุด ! ส่งออกไทยจะถูกกระทบแค่ไหน ?
เพียงแค่ 5 วัน (ระหว่าง 8-12 มีนาคม 2566) ธนาคารในสหรัฐอเมริกาถูกปิดไป 3 แห่ง
ธนาคารแรก Silvergate Bank
ธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจ Crypto Currency ขาดทุนประมาณ 35,000 ล้านบาท
ธนาคารที่สอง Silicon Valley Bank (SVB)
ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 16 ของอเมริกา ปล่อยกู้ให้กับบริษัทเทคโนโลยี ธุรกิจ Start Up และตราสารหนี้โดยครึ่งหนึ่งของ Start Up ในอเมริกาใช้บริการของ SVB
ธนาคาร SVB ในช่วง Covid19 มีเงินฝากเยอะเพิ่มมากขึ้น 2 เท่า จึงไปซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ระยะยาว ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวและมีความเสี่ยงต่ำ
เมื่อ Covid19 คลี่คลาย ผู้ฝากจึงเริ่มถอนเงิน ประกอบกับดอกเบี้ยเงินฝากสูง (เพราะธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาหรือ Federal Reserve: FED ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยในอัตราสูงตั้งแต่ปี 2565)
ลูกค้าของธนาคาร SVB จึงถอนเงินเพื่อไปซื้อตราสารหนี้ ทำให้ธนาคาร SVB ต้องนำตราสารหนี้ระยะยาวไปขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ซื้อมา หรือคือยอมขายขาดทุนเพื่อจ่ายให้กับผู้ถอนเงิน ทำให้ผู้ฝากเงินเกรงว่า SVB จะไม่มีเงินให้ถอน จึงเร่งถอนเงินพร้อม ๆ กัน (Bank Run) ทำให้ SVB ขาดสภาพคล่อง
ธนาคารที่สาม ธนาคาร Signature Bank
ซึ่งมีธุรกิจคล้าย SVB ประกาศกับผู้ฝากเงินว่าจะได้รับเงินชดเชยเต็มจำนวน แต่ผู้ฝากไม่เชื่อ จึงถอนเงินไว้ก่อน จนกระทั่งรัฐต้องออกมาประกาศว่าผู้ฝากเงินกับ SVB และ Signature Bank จะได้รับความคุ้มครองเงินเต็มจำนวน และถอนเงินได้ตั้งแต่ 13 มี.ค.2566
พร้อมกันนี้ รัฐยังได้ช่วยเหลือด้วยการเสนอเงินกู้อายุ 1 ปี ให้กับสถาบันการเงิน ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ถูกผลกระทบจากการล้มของ SVB
เพื่อความมั่นใจในข่าวและข้อมูลซึ่งมาจากอเมริกา ผมจึงได้โทรไปหาเพื่อนในอเมริกา ซึ่งมีทั้งไทย-อเมริกัน ได้ข้อมูลว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในอเมริกาไม่ดีจริง ๆ เพราะค่าครองชีพสูงมาก ทุกอย่างแพงหมด และผู้ชำนาญการเศรษฐกิจต่างกำลังวิตกว่า FED อาจจะมีมาตรการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าปัจจุบัน (อัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน 4.5%) หาก FED ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% อีก 2 ครั้ง ระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของอเมริกาจะเลวร้ายกว่านี้ แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่า FED น่าจะยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะชะลอการปรับเพราะเห็นผลกระทบจากการล้มของสามธนาคารแล้ว
ความเชื่อว่า FED จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นหรือไม่นั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ FED และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการเงินและเศรษฐกิจของอเมริกาต้องพิจารณาให้รอบคอบและละเอียดลออ
เพราะความเชื่อที่ว่าหากอัตราดอกเบี้ยสูงจะเป็นการขจัดปัญหาเงินเฟ้อนั้น อาจจะไม่แน่นอนเสมอไป เพราะโลกปัจจุบันอยู่ในยุค BANI (ทุกอย่างเปราะบาง คาดการณ์ความแน่นอนไม่ได้)
หากปรับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงก็จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก ทำให้ต้นทุนด้านการเงินสูงขึ้น นักลงทุนจะระมัดระวังในการกู้เงินและลงทุน (ปัจจุบันอัตราการจ้างงานของอเมริกายังอยู่ในระดับน่าพอใจ หลายฝ่ายจึงมองว่า FED อาจจะยังไม่มีความคิดในการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย)
เพราะเมื่อต้นทุนด้านการเงินสูงขึ้นก็จะกระทบไปถึงต้นทุนสินค้าที่แพงขึ้น ดังนั้นนักลงทุนจะผลักภาระไปให้ผู้บริโภค ราคาสินค้าแพง และทั้งนี้รวมไปถึงค่าใช้จ่ายด้านค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพลังงานจะสูงตามไปด้วย
ในส่วนของไทยนั้น อาจจะได้รับผลกระทบด้านการส่งออก จะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกของไทยเดือน ม.ค.2566 ต่ำสุดในรอบ 23 เดือน โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์สหรัฐกับเงินบาทอาจขึ้น ๆ ลง ๆ
การที่ไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและภาวะการเงินจากอเมริกานั้น เพราะประเทศไทยมีมูลค่าการค้ากับอเมริกามากเป็นอันดับหนึ่ง (ไทยส่งออกไปจีน อาเซียน น้อยกว่าอเมริกา)
เมื่อค่าครองชีพในอเมริกาสูงขึ้น สินค้าจะแพง เมื่อแพง การบริโภคของประชาชนก็จะน้อยลง (เท่าที่คุยกับเพื่อน ทราบว่าเมื่อก่อนนี้อาจจะมีการซื้ออาหารตุนไว้ในบ้าน 1-2 อาทิตย์ แต่ปัจจุบันจะซื้ออาหารเท่าที่จำเป็น)
ในขณะเดียวกัน หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงมาก ประชาชนก็จะถอนเงินสดออกจากธนาคารที่ตนเองฝากอยู่ไปซื้อตราสารหนี้ ซึ่งสถาบันการเงินที่ขายตราสารหนี้จะให้อัตราดอกเบี้ยตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของการฝากธนาคาร
ดังนั้น หาก FED ปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นอีกในปี 2566 บางธนาคารจึงอาจจะเกิดปัญหาขาดเงินสดหมุนเวียน เมื่อขาดเงินสดหมุนเวียน ธนาคารก็จะนำตราสารหนี้ออกขายแบบยอมขาดทุน ประชาชนก็กลัวว่าธนาคารที่นำตราสารหนี้ออกขายแบบขาดทุนอาจจะเจ๊ง เลยยิ่งแห่กันไปถอนเงิน ธนาคารที่ประชาชนแห่กันไปถอนเงินก็จะไม่มีเงินให้ถอน อาจต้องล้มละลายหรือปิดเช่นเดียวกับ SVB
หากเป็นเช่นนั้นจริง FED และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามหามาตรการช่วยเหลือธนาคารที่ประชาชนแห่ถอนเงินโดยสัญญาว่าผู้ฝากเงินทุกคนจะได้เงินฝากคืนครบจำนวนตามที่ฝาก แต่อาจจะต้องใช้เวลา 1-2 เดือน หรือ 1-6 เดือน แล้วแต่ว่ารัฐจะหาเงินให้จากแหล่งใดมาสนับสนุน ซึ่งปัจจุบันอเมริกามีหนี้สาธารณะสูงสุดเป็นประวัติการณ์
สมมุติต่อไปว่า ประชาชนในอเมริกาเกิดตื่นตระหนกในเรื่องการฝากถอนเงินจนกลายเป็น Panic (อาการตื่นตกใจ) ก็จะเกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ (Chain of Reaction) และลุกลามเป็นการจลาจล (Riot) คือเมื่ออารมณ์ความรู้สึกของประชาชนปรับจาก Panic เป็น Riot นั่นหมายความว่ารัฐอาจจะต้องใช้ทหารเข้าระงับการจลาจล รัฐก็จะประกาศภาวะฉุกเฉินตามความจำเป็น
จากการประมวลข้อมูลและการประเมินความน่าจะเป็นไปได้ คาดว่า FED จะยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 หรือหากจะปรับก็อาจจะปรับในอัตราต่ำ
แต่ทั้งนี้ อาจจะต้องประเมินสถานการณ์ทั่วไปของอเมริกา เพราะอเมริกากำลังเป็นผู้ป่วยทางเศรษฐกิจของโลก และภาพลักษณ์ของประเทศอาจจะไม่ดี ดังนั้นเพื่อปรับสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ดีขึ้น อเมริกาอาจมีมาตรการที่ Beyond หรือเกินกว่าการคาดหมายของประเทศต่าง ๆ ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไทยไปอเมริกาอาจต้องปรับกลยุทธ์ในการส่งออก ดังนี้
- ทำงานหนักมากขึ้น เพื่อเพิ่มลูกค้ารายใหม่ในอเมริกาหรือประเทศอื่น ๆ
- คู่แข่งสินค้าส่งออกของไทยคือเวียดนาม โดยเฉพาะในตลาดอเมริกา อาเซียน
จึงต้องศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ด้านกลยุทธ์การตลาดของเวียดนาม - ระวังอัตราแลกเปลี่ยน
มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2565
อันดับ | ประเทศ | มูลค่า (ล้านบาท) |
1 | สหรัฐอเมริกา | 1,648,431.95 |
2 | จีน | 1,190,478.91 |
3 | ญี่ปุ่น | 855,401.60 |
4 | ฮ่องกง | 348,672.10 |
5 | เวียดนาม | 459,289.45 |
ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
ติดต่อ สอบถาม ใช้บริการ นำเข้า-ส่งออก คลิกที่นี่ หรือ โทร 0-2742-7851-5 / 0-2742-7858-60 หรือ อีเมล์ mks@ebcitrade.com
16 มีนาคม 2566
เกี่ยวกับผู้เขียน
*สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์-แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ชำนาญการด้านโลจิสติกส์ การค้าระหว่างประเทศและสิทธิประโยชน์ภาษีอากร