APEC 2022 ไทยได้อะไรจริงหรือ?
อาจเป็นเพราะข่าวเด่นๆ ในประเทศไทยดึงความสนใจไปจากสื่อและประชาชน เช่น ข่าวการวินิจฉัยในการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของศาลรัฐธรรมนูญต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ข่าวน้ำท่วมในต่างจังหวัดและ กทม. ซึ่งมีทีท่าว่าในบางจังหวัดจะท่วมหนักกว่าปี 2562 และข่าวโศกนาฏกรรมที่หนองบัวลำภู ทำให้สื่อประเภทต่างๆ ให้ความสนใจต่อข่าวการประชุม APEC ช่วง 18-19 พ.ย.65 น้อย ทำให้ข่าว APEC ดูเหงาหงอย แม้รัฐบาลจะมีโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ บ้าง (เข้าใจว่างบประมาณจำกัด)
และอาจเป็นเพราะว่าการประชาสัมพันธ์เรื่องความสำคัญของการประชุม APEC ที่มีต่อประเทศไทยให้ข้อมูลน้อยไป แม้แต่คำว่า Open. Connect. Balance.
ก็ไม่ได้ขยายความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจว่ามันคืออะไร เป็นประโยชน์ทางการค้า สิ่งแวดล้อมในอนาคต และช่วยเหลือ SMEs อย่างไร
ประกอบกับผู้นำประเทศของสหรัฐอเมริกาอย่างโจ ไบเดน ไม่ให้ความสำคัญกับ APEC 2022 เพราะหากมาร่วมการประชุม ความโอ่อ่าอลังการที่เคยเป็นในอดีตอาจจะไม่เฉิดฉาย สปอร์ตไลท์ทางการเมืองระหว่างประเทศอาจจะฉายไปที่สี จิ้น ผิง และ วลาดิเมียร์ ปูติน มากกว่าโจ ไบเดน จึงมีข่าวว่ารองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะมาร่วมการประชุมแทน
หากมองย้อนกลับเรื่องความเป็นมาของ APEC ซึ่งประกอบด้วย 21 เขตเศรษฐกิจ (ประเทศสมาชิกใน APEC จะไม่เรียกเป็นประเทศ แต่จะเรียกเป็นเขตเศรษฐกิจแทน คือ ปาปัวนิวกินี ไต้หวัน ฮ่องกง)
*สมาชิก APEC ประกอบด้วยออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน ไทย จีน ไทเป ฮ่องกง ปาปัวนิวกินี เม็กซิโก ชิลี เปรู เวียดนาม รัสเซีย แคนาดา สหรัฐอเมริกา
หากมองกันให้ลึก APEC ก่อตั้งครบ 21 เขตเศรษฐกิจในปี 2541 ภายหลังจาก ASEM (Asia-Europe Meeting) หรือการประชุมเอเชีย-ยุโรป ก่อตั้งในปี 2539 ปัจจุบัน ASEM มีสมาชิก 51 ประเทศ แต่การประชุมที่ผ่านไปส่วนใหญ่เป็นลักษณะพูดคุยกันระหว่างผู้นำประเทศมากกว่า ไม่ได้มีสาระจริงจังด้านการค้าระหว่างประเทศ ASEM มีการประชุมครั้งแรกเมื่อ 1-2 มีนาคม 2539 ณ กรุงเทพ โดยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี
สาเหตุการก่อตั้ง APEC เพราะเชื่อกันว่า EU ในยุคที่แยกตัวออกมามีสมาชิก 27 ประเทศ มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและขยายตัวทางการค้าไปยังเอเชีย ในขณะที่อเมริกาใน พ.ศ.นั้นยังไม่เจาะแจ๊ะกับ EU มากนัก เลยมองว่าอเมริกาน่าจะขยายขอบเขตการค้าเข้ามาในเอเชียบ้าง จึงก่อตั้ง APEC ในปี 2541
จุดมุ่งหมายที่เป็นประเด็นสำคัญของ APEC คือการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การฟื้นฟูความเชื่อมโยงโดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด19 ปัจจุบัน 71% ของไทยค้าขายกับ APEC และคิดเป็น 70% ของการค้าโลกของไทย ซึ่งหากมองในแง่การค้าโลก APEC ก็มีความหมายกับการส่งออกของไทย
ประเด็นสำคัญในการประชุม APEC ปี 2022 กำหนดไว้ดังนี้
Open: เปิดกว้างและเปิดโอกาสด้านการค้าและการลงทุนภายหลังโควิด19
Connect: จะหาทางสร้างความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกันอย่างไร
Balance: จะปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่การเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุมอย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจที่ไทยจัดไว้ในวาระการประชุมคือ
1.BCG Economy
2.การเจรจา FTAAP
3.การส่งเสริมพัฒนา MSMEs (Micro, Small and Medium Enterprise)
ไทยได้อะไรจาก APEC 2022 จริงหรือ ?
หากมองว่างบประมาณในการจัดงาน APEC 2022 ประมาณ 3,300 ล้านบาท บวกกับกำลังคนมากกว่า 600 คน ในการจัดงานครั้งนี้ คุ้มมั๊ย
ผมเชื่อว่าน่าจะคุ้มหากมองในแง่ของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ชื่อและภาพลักษณ์ของประเทศไทยไปทั่วโลกผ่าน International Social Media ก็น่าจะเกินคุ้ม
- การฉายภาพลักษณ์ของประเทศในความเป็นผู้นำด้วยการนำเสนอ BCG Economy Model ต่อสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจผ่าน APEC จะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยดีขึ้นมากในสายตาและความรู้สึกของชาวโลก เพราะ Model ดังกล่าวเป็นการนำเสนอสาระสำคัญที่เป็นความยั่งยืนด้านการส่งเสริมพัฒนาสิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจเพื่อโลกอุตสาหกรรมการผลิต การค้าบริการ และการท่องเที่ยว เช่น
1.1 Bio Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ โดยเป็นระบบเศรษฐกิจที่นำความรู้และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพมาช่วยในการพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นสินค้าและบริการที่ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การแพทย์ การเกษตร อาหาร พลังงาน
1.2 Circular Economy หรือคือเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการออกแบบเศรษฐกิจให้หมุนเวียนเป็นวงจรไม่รู้จบ ซึ่งมีขอบเขตมากกว่าการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ นับตั้งแต่การออกแบบสินค้า การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ผลิตภัณฑ์ การลดของเสีย เช่น การนำเศษขยะอาหารมาปรับเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ การนำกล่องกระดาษอาหารมาทำเป็นถังขยะ
1.3 Green Economy เป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ใส่ใจในประเด็นการยกระดับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพของคนในสังคม โดยพยายามใช้พลังงานสะอาดเพื่อควบคุมการก่อมลพิษ เช่น การลดการใช้พลาสติก การลดการใช้น้ำมันในรถยนต์ด้วยการใช้ไฟฟ้า ฯลฯ
ผมเชื่อว่าเฉพาะ 3 เรื่องนี้ น่าจะได้รับการยอมรับจากสมาชิก APEC แม้ไทยจะเริ่ม BCG Model ภายหลังประเทศทางตะวันตก แต่ไทยก็น่าจะเป็นผู้นำในอาเซียน
- การเจรจา FTAAP (Free Trade Area of the Asia Pacific) เขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก
- การประชุม APEC 2022 มีวาระเรื่อง FTAAP ซึ่งตามเป้าหมายของ APEC ที่ตั้งเป้าไว้จะให้เสร็จในปี 2040 โดยหากเจรจาและขับเคลื่อนได้สำเร็จจะเป็น FTA พหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประชากรรวมกัน 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก มูลค่า GDP รวมกัน 62% ของ GDP โลก มูลค่าการค้าของสมาชิกรวมกันประมาณ 52 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,768 ล้านล้านบาท การประชุม FTAAP ใน APEC 2022 จะเป็นผลดีต่อไทยในการจับประเด็นความคิดด้าน FTAAP ของอเมริกา จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และมีสมาชิกอื่นๆ เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางรองรับการขับเคลื่อน FTAAP ของไทย เพราะการประชุม APEC 2023 จัดที่อเมริกา ซึ่งแน่นอนว่าอเมริกาจะแสดงบทบาทความเป็นผู้นำในกรอบการค้า FTAAP ในขณะที่ไทยจะได้ทราบท่าทีของจีน รัสเซีย และญี่ปุ่น ด้วย
- การส่งเสริมพัฒนา MSMEs
ไทยควรจะมีข้อเสนอและท่าทีในการให้ผู้ประกอบการ SMEs ในไทยได้เข้าร่วมการประชุมในวาระนี้ (ขออภัยหากมีวาระแล้ว) เพื่อเสนอความคิดเห็นและเสนอแนวทางพัฒนาธุรกิจ SMEs ให้มีความเจริญก้าวหน้าและช่วยตัวเองได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
และที่ขอชมเชยกระทรวงการต่างประเทศคือการดึงแขก VIP 3 คน ซึ่งทำให้ APEC 2022 มีสีสันและน่าสนใจมากขึ้น คนแรกคือประธานาธิบดีของฝรั่งเศส มาครง
สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา
และเจ้าชายมูฮัมมัด บิน ซัลมาน อับดุลอะซีซ อัล ซะอูด มกุฎราชกุมาร นายกรัฐมนตรีของซาอุดีอาระเบีย
ทั้งนี้ หากถามว่าการจัดประชุม APEC 2022 ที่ไทย คุ้มกับค่าเหนื่อยมั๊ย
ผมเชื่อว่า………คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม
และหากเตรียมการนำเสนอโครงการ EEC ต่อที่ประชุม APEC 2022 ด้วยก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อไทยด้านการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนของไทยต่ออาเซียนและต่อสมาชิก APEC รวมทั้งต่อสมาชิก WTO ด้วย ก็จะยิ่งคุ้ม
ส่วนที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาไม่มาร่วมประชุมครั้งนี้ คงเป็นไปตามที่หลายประเทศคิด การประชุม APEC 2022 ไบเดนจึงอาจจะเป็นดาวเคราะห์ที่ริบหรี่ท่ามกลางดาวฤกษ์ที่ส่งแสง
ติดต่อ สอบถาม ใช้บริการ นำเข้า-ส่งออก คลิกที่นี่ หรือ โทร 0-2742-7851-5 / 0-2742-7858-60 หรือ อีเมล์ mks@ebcitrade.com
15 ตุลาคม 2565
เกี่ยวกับผู้เขียน
*สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์-แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ชำนาญการด้านโลจิสติกส์ การค้าระหว่างประเทศและสิทธิประโยชน์ภาษีอากร