การส่งออกจากไทยไปยุโรป ต้องทบทวนกลยุทธ์
มูลค่าการส่งออกไทยไป EU (27 ประเทศ) ตั้งแต่ปี 2561-2564 ดูไม่สดใสเท่าที่ควรจะเป็น ตัวเลขเฉลี่ยปีละ 785,000 ล้านบาท
และมีความเป็นไปได้ว่าการส่งออกของไทยไป EU 27 ประเทศ ภายในปี 2566 อาจจะมีมูลค่าน้อยลงด้วยสาเหตุต่อไปนี้
สงครามรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่ 24 ก.พ.65 ทำให้ยุโรปเป็นศูนย์กลางของวิกฤตเศรษฐกิจในหลายด้าน คือยุโรปต้องเผชิญกับการขาดแคลนพลังงาน
เพราะต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากถึง 25% และ 40% ของการนำเข้า สาเหตุเพราะยุโรปเอาใจลูกพี่ใหญ่คือสหรัฐอเมริกาที่ชักชวนให้คว่ำบาตรรัสเซีย รัสเซียจึงลดการส่งออกก๊าซผ่านท่อจนเหลือเพียง 40% ของปริมาณที่เคยส่ง และบริษัทพลังงานรายใหญ่ของรัสเซียยังได้ประกาศยกเลิกการส่งก๊าซไปยุโรปจนกว่าชาติตะวันตกจะยกเลิกการคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปพุ่งสูงกว่า 200 ยูโร (จากเดิม 50-60 ยูโร) ก่อให้เกิดความหวั่นวิตกว่ายุโรปอาจจะมีก๊าซไม่เพียงพอในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง
ชาร์ตแสดงการส่งออกก๊าซไปยังประเทศต่างๆในยุโรปซึ่งมีจีน และ ญี่ปุ่น เป็นคู่ค้าด้วย
นอกจากนี้ ปัญหาวิกฤตเงินเฟ้อของยุโรปขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับที่อัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นเพื่อดูแลเรื่องเงินเฟ้อ ทำให้ยุโรปเกิดปัญหาเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย
สินค้าไทยที่จะส่งออกจะน้อยลง
- สืบเนื่องจากราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นทำให้ภาวะเงินเฟ้อสูงตาม และการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น ค่าเงินที่ลดลง จึงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย การใช้จ่ายเพื่อซื้อสิ่งของที่จำเป็นจึงต้องมาก่อน เช่น การจ่ายค่าพลังงานเป็นอันดับแรก การใช้จ่ายเพื่ออาหารและของใช้จำเป็นในครัวเรือนจึงลดลง สินค้าไทยประเภทยางและของที่ทำด้วยยางพลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก ของที่ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า เครื่องแต่งกาย รองเท้า เคมีภัณฑ์ ของปรุงแต่งจากพืช ผัก ผลไม้ อุปกรณ์กีฬา เนื้อสัตว์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนัง แก้ว และเครื่องแก้ว ฯลฯ จะได้รับผลกระทบโดยตรง
ผู้ส่งออกไทยที่จะเจาะตลาดยุโรปจึงต้องใช้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ในการเสนอราคาขายแก่ผู้ซื้อในยุโรป โดยอาจจะลดราคาให้ผู้ซื้อบ้าง และเพราะว่าค่าขนส่งสินค้าทางเรือขึ้นสูงอันเนื่องจากภาวะสงครามและราคาพลังงานที่ขึ้นสูง ผู้ส่งออกไทยจึงควรเสนอราคาขายเป็น FOB
ในขณะเดียวกัน การติดต่อหาผู้ซื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต้องทำควบคู่ไปด้วย โดยปรึกษาหารือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (EXIM Bank) รวมทั้งติดต่อขอคำแนะนำจากผู้อำนวยการสำนักงานการค้าระหว่างประเทศ ณ สถานทูตไทยในประเทศต่างๆ ในยุโรป เพื่อเพิ่มช่องทางทางการตลาดให้มากขึ้น
นอกจากนี้ การร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ (ยุโรป) จะต้องเลือกงานที่เฉพาะเจาะจงและเหมาะกับสินค้าส่งออกของผู้ส่งออก หมายความว่าจะต้องเป็นงานแสดงสินค้าที่มีผู้เข้าชมงานมากพอ สถานที่จัดแสดงสินค้าในแต่ละประเทศไปถึงได้ง่าย (บางครั้งงานแสดงสินค้าไปจัดใน Hall เล็กๆ ในเมืองเล็กๆ) และหากเป็นการจัดงานแสดงสินค้าผ่านระบบ Online จะยิ่งดี (แม้จะไม่มีผลลัพธ์ดีเท่ากับการจัดแสดงสินค้า Onsite) เพราะจะประหยัดค่าเดินทาง ที่พัก ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ค่าขนส่งสินค้าไปจัดแสดง ค้าจ้างออกแบบ Booth ค่าจ้างผู้แนะนำสินค้า ค่าเช่า Booth
อย่างไรก็ตาม การนำสินค้าไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้า แม้จะสิ้นเปลือง แต่ก็อาจจะทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ และได้เห็นสินค้าของคู่แข่งจากประเทศอื่นๆ แล้วนำความรู้ที่ได้รับกลับมาปรับแต่งสินค้าของตนเอง เพื่อปรับจุดอ่อนเป็นจุดแข็ง และปรับจุดแข็งให้เป็นจุดขายที่โดนใจผู้ซื้อ
ดังนั้น การเลือกงานแสดงสินค้าจึงต้องพิถีพิถัน โดยต้องเลือกรูปแบบของงานให้เหมาะกับสินค้าที่จะนำไปจัดแสดง และตั้งราคาขายให้เหมาะสม
ติดต่อ สอบถาม ใช้บริการ นำเข้า-ส่งออก คลิกที่นี่ หรือ โทร 0-2742-7851-5 / 0-2742-7858-60 หรือ อีเมล์ mks@ebcitrade.com
26 กันยายน 2565
เกี่ยวกับผู้เขียน
*สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์-แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ชำนาญการด้านโลจิสติกส์ การค้าระหว่างประเทศและสิทธิประโยชน์ภาษีอากร