น้ำท่วมกรุงเทพ นี่แค่เพิ่งเริ่มต้น!

คนที่อาศัยหรือต้องมีธุรกิจหรือมีกิจกรรมในกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. คงจะเดือดร้อนจากน้ำท่วมตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนจนถึงวันนี้ (14 ก.ย.65) และคงจะต้องทนลำบากต่อไปอีกหลายวัน ปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ 7 ส.ค. – 10 ก.ย.65 พบว่าปริมาณน้ำฝนสูงสุดอยู่ที่ 99.9 มม. ในวันที่ 10 ก.ย.65 ซึ่งยังต่ำกว่าปริมาณฝนสูงสุดสถิติเดิมคือ 223 มม. เมื่อ 14 ต.ค.60 ซึ่งวันนั้นฝนตกหนักต่อเนื่องจากช่วงกลางคืนแค่วันเดียว สภาพหนักยิ่งกว่าช่วง 7-13 ก.ย.65 มากมายหลายเท่า

ที่มาภาพ : The Standard

ที่มาภาพ : The Standard

ดังนั้น น้ำที่ท่วมในช่วง 7-13 ก.ย.65 จึงเป็นเพียงสัญญาณเตือนเท่านั้น หรืออย่างที่ สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง โพสไว้ใน Facebook ส่วนตัว ระบุว่า “This is just the beginning”

สันต์ สรุปว่า

“ปัญหาน้ำท่วมเมื่อสัปดาห์ก่อน (7-13 ก.ย.65) เป็นปัญหาท่วมจากฝนตกหนักในบางพื้นที่แบบรายวัน ความเสียหายที่รุนแรงที่จะมาในปีต่อๆ ไป จะยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้น ยิ่ง Global Warming รุนแรงขึ้นเท่าไหร่ ไทยจะยิ่งเจอ Extreme Weather Event มากขึ้นเรื่อยๆ และถ้าน้ำทะเลสูงขึ้นมากกว่านี้ในช่วงปี 2050 (หรืออีก 28 ปี ข้างหน้า) เรื่องที่น่ากังวลที่สุดที่จะตามมาคือ กทม. และอีกหลายพื้นที่โดยรอบ ประชาชนจะอยู่อาศัยได้หรือไม่”

กทม. และชุมชนเมืองโดยรอบรวมถึงปริมณฑล ทรัพย์สิน ธุรกิจอุตสาหกรรมเสียหายมากมายขนาดไหน จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงใยอย่างยิ่ง

จากงานวิจัยของ Nature Communications คาดการณ์ว่าในปี 2050 หรืออีก 28 ปี กรุงเทพฯ และเมืองหลวงในเอเชียหลายแห่งกำลังจะจมน้ำ โอกาสที่น้ำจะท่วม กทม. จะยิ่งสูงขึ้นและจะเลวร้ายกว่านั้น มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะที่คาดการณ์ไว้นั้นเป็นเพียงการประเมินจากปัจจัยผลกระทบจากการเพิ่มสูงของระดับน้ำทะเลเท่านั้น ยังไม่รวมปัจจัยเสริมอย่างการเติบโตของประชากรในอนาคต (ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมีอัตราการเกิดของเด็กต่ำ แต่ประชาชนคนสูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นภาระมากกว่าคนวัยหนุ่มสาวและวัยเด็ก) และการสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งจากการกัดเซาะของทะเลมารวมไว้

ด่วน! กรมชลฯ สั่งเด้ง ผอ.รังสิตใต้ เซ่นปม "น้ำท่วมรังสิต"

ที่มาภาพ : https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1026043

ประเทศไทยมีพลเมืองที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งรวมถึง กทม. มากกว่า 10% จึงเป็นกลุ่มประชากรที่จะได้รับผลเสี่ยงโดยตรงในปี 2050

รศ.ดร.สุจริต คูณธรกุลวงศ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารการจัดการน้ำให้ข้อมูลว่า “ประเทศไทยมีมาตรการรองรับเรื่องน้ำท่วมไว้แล้วหลายด้าน เช่น การทรุดของแผ่นดินจากการสูบน้ำ การเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำ การเกาะติดการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และการเกาะติดในอีกหลายๆ ด้าน ฯลฯ แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีที่เราตระหนัก ตื่นตัว แต่ไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป”

ที่มาภาพ : Nindary Aingsanittha

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อมูลจาก กทม. ในช่วงที่ฝนตกมากติดต่อกันหลายวันในช่วง ก.ย.65 พบว่ามีหลายเขตใน กทม.ไม่น้อยกว่า 15-20 เขต ที่ได้รับผลกระทบ

หากปริมาณฝนตกหนักเท่าหรือมากกว่า 223 มม. กทม. จะรับมืออย่างไร

.

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแผนการและวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมช่วง 7-13 ก.ย.65 ของ กทม.จะพบว่ามีปัญหาที่แม้จะได้เตรียมการไว้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ดีและเหมาะสม เพราะ

  1. เป็นปัญหาหมักหมมมานาน
  2. เครื่องสูบน้ำของกรมชลประทานและ กทม. ใช้ได้ไม่เต็มที่ (มีเครื่องสูบน้ำส่วนหนึ่งเสีย ใช้การไม่ได้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพใช้ได้)
  3. การก่อสร้างหลายภาคส่วนของเอกชนและรัฐบาล
  4. ความมักง่ายของประชาชนบางส่วนทั้งที่พักอาศัยในที่พักอาศัยและทำงาน โรงงาน โดยทิ้งขยะและพลาสติกตามถนน ชุมชน ทำให้ขยะและสิ่งของจมปลักในท่อระบายน้ำ ท่อจึงตัน ระบายน้ำไม่ได้
  5. อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำที่เสียงบประมาณสร้างเป็นหมื่นล้าน 4 แห่งใน กทม.กลับใช้การไม่ได้ เพราะอุโมงค์อยู่ปลายน้ำ จึงไม่ช่วยในการระบายน้ำลงทะเล
  6. การไม่ประสานงานกันของหน่วยราชการทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ แม้จะมีแผนและวิธีการ แต่ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างพาย และที่สำคัญติดขัดจากระบบราชการที่โบราณของบางหน่วยงาน ซึ่งทุกอย่างต้องมีการร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษร หน่วยงานที่ได้รับการประสาน จึงจะอำนวยการหรือจัดการประสานงานให้
ที่มา : ข่าวสด

ผมอยากสรุปว่า การที่ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันหรือน้ำทะเลหนุนสูงจนทำให้น้ำท่วม กทม.และปริมณฑลที่เกิดขึ้นช่วง 7-13 ก.ย.65 นั้น เป็นการเตือนภัยจากภาวะโลกร้อน (Global Warming) ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ก่อให้เกิดฝนตกเฉียบพลันในระยะเวลาสั้นๆ และตกมากขึ้น โลกร้อนมากขึ้น และจะร้อนมากขึ้นอีก 1.5 องศา อย่างแน่นอน โอกาสที่ตกจะเพิ่มความถี่มากขึ้นจากปีละ 5-10 ครั้ง จะเป็น 10-15 ครั้ง หรืออาจจะเป็น 20 ครั้ง ซึ่งเท่าที่สังเกตและติดตามองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างไม่ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมหลักๆ ทั่วประเทศยังไม่ใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากนี้บุคลากรและหน่วยงานของรัฐยังขาดการบูรณาการ ทรัพยากร งบประมาณ และบุคลากร มองเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว ครอบครัว พวกพ้อง

หากเป็นเช่นนี้ วิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่จะเกิดในปี 2050 อาจจะเกิดขึ้นก่อนปี 2050 ก็ได้ เพราะความรุนแรงของน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 และน้ำท่วมเมื่อ 14 ต.ค.2560 นั้น อาจจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนที่ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือและเตรียมการให้ดีและพร้อมกว่านี้ และต้องเพิ่มความจริงจังเอาใจใส่ด้วย โดยเป็นแผนระดับชาติ

ติดต่อ สอบถาม ใช้บริการ นำเข้า-ส่งออก คลิกที่นี่ หรือ โทร 0-2742-7851-5 / 0-2742-7858-60 หรือ อีเมล์ mks@ebcitrade.com

21 กันยายน 2565

เกี่ยวกับผู้เขียน

*สายัณห์  จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์-แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ชำนาญการด้านโลจิสติกส์ การค้าระหว่างประเทศและสิทธิประโยชน์ภาษีอากร