BRICS กับโอกาสการส่งออกของไทย

ทั่วโลกให้ความสนใจต่อการประชุม BRICS ครั้งที่ 14 เมื่อ 23 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นการประชุม Online โดยจีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้

BRICS เป็นการรวมตัวกันของ 5 ประเทศ ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ รวมตัวกันในปี 2009 และต่อมาแอฟริกาใต้ได้เข้าร่วมด้วยในปี 2010

การที่ทั้งโลกสนใจการประชุม BRICS ครั้งนี้ เพราะเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีปูติน ของรัสเซีย เข้าร่วมการประชุมกับจีน อินเดีย หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ประกอบกับจีน อินเดีย เป็นประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกในเอเชียที่ไม่ประณามรัสเซียในสหประชาชาติ ในกรณีที่รัสเซียบุกยูเครน

นอกจากประเด็นที่ประธานาธิบดีปูตินเข้าร่วมประชุมกลุ่ม BRICS แล้ว ยังมีเรื่องที่น่าสนใจคือ GDP ภายในประเทศของ 5 ประเทศรวมกัน คิดเป็น 1 ใน 4 ของโลก มีมูลค่าการค้ารวมกันเป็น 16% ของมูลค่าการค้าของโลก มีประชากรรวมกันประมาณ 3200 ล้านคน คิดเป็น 40% ของประชากรโลก และเป็นกลุ่มที่มีประเทศในทวีปเอเชีย ทวีปอเมริกาใต้ และทวีปแอฟริกา รวมกัน

เมื่อมองจากมุมของการส่งออกของประเทศไทย การมีแผนยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการเจาะตลาดทั้ง 5 ประเทศ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการเมืองการค้า เศรษฐกิจ และความมั่นคง ต้องให้ความสนใจ และที่น่าสนใจ ASEAN มีมูลค่าทางการค้ากับ BRICS สูงกว่ามูลค่าทางการค้ากับกลุ่ม EU มาก (ซึ่งมี 27 ประเทศ)

ไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับกลุ่ม BRICS แยกเป็นรายประเทศ ข้อเขียนนี้จึงมุ่งทางด้านการส่งออกเป็นหลัก

ไทย-จีน

ไทยค้าขายกับจีนผ่าน FTA ASEAN-จีน ในปี 2564 จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทยรองจากอเมริกา คาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนขยายตัวที่ 28%

สินค้าส่งออกจากไทยไปจีนขยายตัวเกือบจะทุกสินค้า เช่น ผลไม้สด แช่เย็น/แช่แข็ง และแห้ง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเคมีภัณฑ์ มันสำปะหลัง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้

นอกจากการส่งออกของไทยไปจีนทางเรือและเครื่องบินแล้ว ยังมีการส่งออกสินค้าผ่านแดนโดยรถบรรทุก ในขณะเดียวกัน จีนผลิตสินค้าได้น้อยลงและราคาแพงขึ้น เพราะ Lockdown ประเทศจาก Covid19 และต้นทุนพลังงานไฟฟ้าที่สูงขึ้น จึงมีความต้องการสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น โอกาสที่ไทยจะส่งออกสินค้าไปจีนจึงมีมากขึ้น

ไทย-อินเดีย

ไทยค้าขายกับอินเดียผ่าน FTA Thai-อินเดีย และ FTA ASEAN-อินเดีย

อินเดียเป็นตลาดส่งออกสินค้าอันดับ 10 ของไทย คนอินเดียโดยเฉพาะในรัฐ 7 สาวน้อยของอินเดีย (เขตชายแดนอินเดียติดกับเมียนมา) ชอบสินค้าไทยมาก การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกปี 2564 ของไทยไปอินเดียขยายตัวมากถึง 57.5% มูลค่า 4486 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าการส่งออกของไทยไปอินเดียในปี 2564 น่าจะขยายตัว 40% มูลค่าสูงสุด 7700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ IMF คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียในปี 2564 ประมาณ 9.5% จากแนวโน้มของการลงทุนจากต่างประเทศในอินเดีย FDI (Foreign Direct Investment) ที่ไหลเข้าอินเดียในปี 2563 สูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก แสดงว่าอินเดียกำลังจะก้าวขึ้นมามีบทบาทเป็นผู้ผลิตของโลกแข่งกับจีน โอกาสการนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าจากต่างประเทศจึงมีมากขึ้น

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอินเดียได้แก่เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศ (อินเดียมีโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศ แต่ก็ยังนำเข้าจากไทย) อัญมณี และเครื่องประดับ เครื่องจักรกล และส่วนประกอบของเครื่องจักรกล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

ไทย-รัสเซีย

รัสเซียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกและกลุ่มประเทศเครือเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS)

มูลค่าสินค้าไทยที่ส่งออกไปรัสเซียในปี 2564 ประมาณ 1028 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 42% สัดส่วนการส่งออกของไทยไปรัสเซียคิดเป็น 0.4% ของมูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดโลก

สินค้าส่งออกของไทยไปรัสเซียเป็นสินค้าเกษตร (กสิกรรม) ปศุสัตว์ ประมง สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าแร่และเชื้อเพลิง ขณะเดียวกัน อาหารประเภทอาหารแห้งหรืออาหารกระป๋อง ก็น่าจะมีช่องทางการขยายตัวในรัสเซีย

ไทย-บราซิล

บราซิลเป็นประเทศใหญ่ในอเมริกาใต้ ไทยมีการค้ากับบราซิลในปี 2564 ประมาณ 861.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกที่ไทยส่งไปบราซิลได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา รถจักรยานยนต์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ตู้เย็น ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า

ไทย-แอฟริกาใต้

แอฟริกาใต้เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในทวีปแอฟริกาใต้ เป็นตลาดส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดของไทยในอนุภูมิภาคแอฟริกาใต้ และยังเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในกลุ่มอาเซียน

สินค้าส่งออกของไทยไปแอฟริกาใต้มีทั้งอาหารและสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ข้าว และอาหารทะเลแปรรูป

อย่างไรก็ตาม 5 ประเทศในกลุ่ม BRICS มีเพียง 2 ประเทศ ที่ไทยลงนาม FTA คือจีนและอินเดีย อีก 3 ประเทศได้แก่ บราซิล รัสเซีย และแอฟริกาใต้ ไทยยังไม่มีความตกลงในรูปแบบ FTA

สินค้าไทยที่ส่งออกไป 3 ประเทศในกลุ่ม BRICS จะไม่ได้รับการยกเว้นอากรนำเข้าที่ประเทศเหล่านั้น ราคาสินค้าไทยในทั้ง 3 ประเทศ จะมีราคาสูง ดังนั้นหากรัฐบาลไทยโดยกระทรวงพาณิชย์สามารถลงนาม FTA กับบราซิลและแอฟริกาใต้ สินค้าส่งออกของไทยจะได้รับประโยชน์ในการได้รับการยกเว้นอากรนำเข้าในประเทศทั้งสอง จะทำให้มูลค่าการส่งออกมากขึ้น

ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศของไทยกับคู่ค้า FTA ในปี 2564 มีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านล้านบาท โต 24% ส่งออก 5.2 ล้านล้านบาท สูงถึง 19%

4 กรกฎาคม 2565

ติดต่อ สอบถาม ใช้บริการ นำเข้า-ส่งออก คลิกที่นี่ หรือ โทร 0-2742-7851-5 / 0-2742-7858-60 หรือ อีเมล์ mks@ebcitrade.com

เกี่ยวกับผู้เขียน

*สายัณห์  จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์-แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ชำนาญการด้านโลจิสติกส์ การค้าระหว่างประเทศและสิทธิประโยชน์ภาษีอากร