ทำไม Logistics และ Supply Chain ทำให้สินค้าขึ้นราคา ?

คำถามข้างต้นเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายมากสำหรับนักวิเคราะห์และทำนายเศรษฐกิจ นักการเงิน-ธนาคาร นักเศรษฐศาสตร์ ผู้นำเข้า-ส่งออก รวมถึงกูรูด้าน Logistics และ Supply Chain

แต่……..อาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ง่ายนักสำหรับประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้นำเข้าและส่งออกที่เพิ่งจะเริ่มทำการค้าระหว่างประเทศ

เพราะการที่สินค้าแพง Logistics และ Supply Chain เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในหลายๆ ปัจจัย เพราะความจริงแล้วมันเกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุนทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทั้งนี้ยังเกี่ยวข้องกับภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เช่น ที่ตั้งของประเทศ หรือผลกระทบของภูมิศาสตร์และการเมืองที่มีต่อประชาชน

เรามาเข้าเรื่องกันว่า Logistics (Logis) และ Supply Chain (SC) ทำไมเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้สินค้าขึ้นราคา

เพื่อทำให้ง่ายต่อการเข้าใจ Logistics หมายถึงกระบวนการขั้นตอนการเคลื่อนย้าย ขนส่ง จัดเก็บ ผลิตและส่งมอบสินค้าหรือสิ่งของให้ถึงมือผู้รับ ผู้ผลิต ผู้บริโภค อย่างรวดเร็วถูกต้อง และต้นทุนในขั้นตอนต่างๆ ต่ำ เช่น บริษัทส่งออกนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อผลิตเป็นสินค้าแล้วส่งออกทางเรือไปให้ผู้ซื้อ

ส่วน Supply Chain (SC) เป็นกระบวนการขั้นตอนที่ใหญ่กว่า Logis โดยรวมระบบ Logis ขององค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือหลายองค์กรมาบูรณาการเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนขององค์กรหลายๆแห่ง เช่น บริษัท A เป็นนายหน้าจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบให้กับบริษัทต่างๆ หลายบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น จัดการด้านการขนส่งวัตถุดิบทางเรือจากประเทศญี่ปุ่นมาถึงไทย ทำพิธีการศุลกากรขาเข้า เสียภาษีอากรแล้วจัดส่งวัตถุดิบทางรถขนส่งถึงโรงงานผู้ผลิตคนไทย จากนั้นขนส่งสินค้าที่โรงงานต่างๆ ในประเทศไทย ผลิตไปท่าเรือ ทำพิธีการศุลกากรขาออก แล้วนำสินค้าลงเรือที่บริษัท A จองไว้ สินค้าจะถึงท่าเรือญี่ปุ่น จากนั้นบริษัท A จะดำเนินการพิธีการศุลกากรขาเข้าที่ท่าเรือญี่ปุ่น เสียภาษีอากรขาเข้าที่ศุลกากรญี่ปุ่น ขนสินค้าไปให้ผู้ซื้อในญี่ปุ่น ณ จุดส่งมอบสินค้าตามความต้องการของผู้ซื้อ

การที่บริษัท A มีกิจกรรมเช่นนี้ จะทำให้มีอำนาจในการต่อรองด้านราคาเพราะปริมาณซื้อมากขึ้น ต่อรองด้านค่าขนส่งเพราะมีสินค้าให้บริษัทเรือและบริษัทรถบรรทุกขนส่งได้มากขึ้น

บริษัทที่ให้ A จัดการกิจกรรมข้างต้นจึงได้ประโยชน์ในการซื้อวัตถุดิบ ค่าขนส่งลดลง

กระบวนการนี้ เรียกว่าเป็นระบบ SC ครบวงจร ซึ่งจะเห็นได้ว่าในกระบวนการนี้มีกิจกรรมที่เกี่ยวกับ Logis อยู่ด้วย เช่น การขนส่ง การจัดเก็บ การทำพิธีการศุลกากร การส่งมอบ จากนั้นโรงงานที่รับสินค้าก็จะส่งมอบให้ร้านค้าเพื่อขายให้ผู้บริโภค

ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจตรงกัน Logis จึงเป็นส่วนหนึ่งของ SC และ SC เป็นการรวมเอากิจกรรม Logis ของหลายๆ องค์กรเข้าด้วยกัน

ความจริงมีขั้นตอนและกิจกรรมอีกเยอะ แต่จะขอให้เข้าใจขั้นต้นเท่านี้ก่อน

คราวนี้เรามาดูกันว่า แล้ว Logis กับ SC ทำไมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สินค้าขึ้นราคา

ปัจจัยที่เห็นและรับรู้อย่างชัดเจนคือสงครามระหว่างประเทศหรือระหว่างภูมิภาคหรือระหว่างกลุ่ม

ซึ่งขณะนี้ เกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน (ความจริงต้องเขียนว่าเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับกลุ่ม NATO ซึ่งมีอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ใน NATO)

เมื่อเกิดสงครามโดยเฉพาะกับประเทศรัสเซียที่ผลิตพลังงาน (น้ำมันและแก๊ส ซึ่งครอบครองถึง 30% ของโลก) และสินค้าที่เป็นอาหาร เช่น ข้าวสาลี ซึ่งผลิตส่งออกมากกว่า 1 ใน 4 ของโลก ในขณะที่ยูเครนประเทศเดียวส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันเกือบครึ่งหนึ่งของโลก

สินค้าอาหารทั้ง 2 ประเภท เป็นปัจจัยหลักในการทำอาหาร ทำให้ตุรกีและอียิปต์ซึ่งนำเข้าข้าวสาลีจากรัสเซียและยูเครนรวมกันเกือบ 70% ของการนำเข้าข้าวสาลีทั้งหมดในประเทศเดือดร้อน  ไม่มีวัตถุดิบในการผลิตอาหาร

ในขณะที่หลายประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี ฮังการี ต้องพึ่งพาแก๊สจากรัสเซียอย่างมาก (คาดว่าเยอรมนีต้องนำเข้าแก๊สจากรัสเซียเกือบ 70%)

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศในยุโรปก็ต้องหาซื้อน้ำมันกับแก๊สจากประเทศอื่น ประกอบกับซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกในการส่งออกน้ำมันไม่ได้ให้ความร่วมมือกับอเมริกาในการผลิตน้ำมันเพิ่ม

ดังนั้น น้ำมัน ข้าวสาลี น้ำมันดอกทานตะวัน จึงขาดตลาด ทำให้ราคาแพงขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตในประเทศที่อยู่ข้างเดียวกับอเมริกาและ NATO ก็ไม่ได้ค้าขายกับรัสเซีย เพราะมาตรการแซงชั่นของอเมริกากับ NATO อยากซื้อก็ซื้อไม่ได้ ประเทศเหล่านั้นก็ขาดวัตถุดิบหรือสินค้าที่จำเป็นอื่นๆ ทำให้วัตถุดิบและสินค้าต่างๆ ขาดแคลน ราคาสินค้าจึงแพงขึ้น

เพราะการผลิตสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะสินค้าในปัจจุบันต้องใช้วัตถุดิบ ส่วนประกอบ ชิ้นส่วนจากหลายๆ ประเทศ หลายๆ บริษัทมาผลิตเป็นสินค้า

ในส่วนของรัสเซียเองก็เจอปัญหาเพราะราคาสินค้านำเข้าแพง เนื่องจากหาซื้อยากเพราะประเทศที่แซงชั่นรัสเซียไม่ยอมขาย รัสเซียก็ต้องซื้อจากประเทศอื่น สินค้าของรัสเซียจึงแพงด้วยเช่นกัน

ในขณะเดียวกันค่าขนส่งทางเรือ ทางเครื่องบิน รถบรรทุก รวมทั้งการบริหารจัดการต่างๆ ก็ถูกกระทบ เพราะน้ำมันและแก๊สแพงขึ้น เนื่องจากการผลิตน้อยลง ภาวะสงครามทำให้เครื่องบิน/เรือ เพิ่มค่าต่างๆ เช่น ค่าเสี่ยงภัยสงคราม ระยะเวลาในการเดินทางและการขนส่งมากขึ้น เพราะอาจต้องอ้อมเส้นทางบางจุดเพื่อลดความเสี่ยงจากสงคราม ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นของแต่ละโรงงานหรือบริษัท

แต่ละโรงงานหรือบริษัทจึงต้องปรับกระบวนการขั้นตอนการผลิตและปรับราคาสินค้า ดังเช่น ประเทศไทยค่าน้ำมันปรับราคาสูงขึ้น วัตถุดิบนำเข้าแพงขึ้น ราคาน้ำมันพืช บะหมี่สำเร็จรูป ปรับราคา อาหารและของกินของใช้ปรับราคา เพราะผู้ผลิตซื้อวัตถุดิบแพงขึ้น โรงงานต่างๆ ต้องเสียค่าวัตถุดิบ การจัดการด้าน Logis มากขึ้น โรงงานต่างๆ อาจจะผลิตน้อยลงหรือหยุดการผลิต ทำให้สินค้าหายากมากขึ้นและแพงขึ้น

และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไม Logis และ SC เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สินค้าขาดแคลนและขึ้นราคา

ติดต่อ สอบถาม ใช้บริการ นำเข้า-ส่งออก คลิกที่นี่ หรือ โทร 0-2742-7851-5 / 0-2742-7858-60 หรือ อีเมล์ mks@ebcitrade.com

25 พฤษภาคม 2565

เกี่ยวกับผู้เขียน

*สายัณห์  จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์-แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ชำนาญการด้านโลจิสติกส์ การค้าระหว่างประเทศและสิทธิประโยชน์ภาษีอากร