คลองสุเอซ VS คลองไทย
ผลกระทบของการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศที่คลองสุเอซ จากอุบัติเหตุเรือ Ever Given ของบริษัทเรือ Evergreen เกยตื้นเมื่อ 23 มีนาคม 2564 ทำให้เกิดความเสียหายต่อการค้าและการเดินเรือระหว่างประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล
คลองสุเอซมีเรือผ่านเข้าออกในปี 2020 ประมาณ 14,000 ลำ เป็นทั้งเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ เรือสินค้าเทกอง เรือบรรทุกน้ำมันและเมื่อรวมเรืออื่นๆ จะมีมากกว่าปีละ 18,000 ลำ ปริมาณสินค้าที่ผ่านคลองแห่งนี้ คิดเป็น 12% ของการขนส่งสินค้าของโลก เรือบรรทุกน้ำมันของโลกประมาณ 30% แล่นผ่านเข้าออกคลองสุเอซ ซึ่งมีความยาว 193 กิโลเมตร กว้าง 300-350 เมตร ลึก 19.5-20.1 เมตร เชื่อมยุโรป (ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) กับเอเชีย (ทะเลแดง) ทำรายได้ให้แก่อียิปต์ปีละ 845,000 ล้านบาท
เมื่อเกิดอุบัติเหตุในคลองสุเอซ ทำให้ผมคิดว่าหากมีเรือใหญ่สักลำหรือเรือบรรทุกน้ำมัน (Oil Tanker) เกยตื้นชนกันหรือลอยเท้งเต้งขวางช่องแคบมะละกา
ประเทศในยุโรปและอเมริกาฝั่งตะวันออกรวมทั้งสามยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของเอเชียและอาเซียน ซึ่งเป็นทั้งแหล่งลงทุน (FDI) และแหล่งผลิตสินค้าใหญ่ของโลกจะประสพปัญหาทำนองเดียวกัน หรือหนักกว่าหลายเท่า
เพราะมีเรือผ่านช่องแคบมะละกาในปี 2017 วันละ 232 ลำ ปีละ 84,680 ลำ ซึ่งมีความหนาแน่นและพลุกพล่านมากกว่าคลองสุเอซ
ปี 1978-1994 เกิดอุบัติเหตุทางเรือในช่องแคบมะละกา 476 ครั้ง อุบัติเหตุครั้งร้ายแรงเกิดในปี 1997 และ 2010 น้ำมันดิบ 18,000 และ 29,000 บาเรล กระจายไปในทะเล
นอกจากความพลุกพล่านของการจราจรทางน้ำแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องเรืออัปปาง หมอก ตะกอน และบริเวณตื้นเขิน รวมทั้งโจรสลัด
ช่องแคบมะละกา เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิค เป็นช่องแคบที่มีความสำคัญอันดับสองของโลกรองจากช่องแคบฮอร์มุช เกือบจะครึ่งหนึ่งของตู้คอนเทนเนอร์ในโลกผ่านช่องแคบมะละกาซึ่งเชื่อมยุโรปและเอเชีย
การค้าของโลกประมาณ 15-20% ผ่านช่องแคบนี้ในแต่ละปี !!
มีการประเมินกันว่า หากช่องแคบมะละกาใช้การไม่ได้จะเกิดผลกระทบมหาศาล เช่น ราคาน้ำมันดิบจะพุ่งทยานจนหยุดและฉุดไม่อยู่ สินค้าจำนวนมหาศาลจะอยู่ตามท่าเรือในหลายประเทศ (รวมทั้งอยู่บนเรือแต่ละลำ) บริษัทเรือ 400 กว่าบริษัทที่เชื่อมกับท่าเรือทั่วโลก รวมถึงจำนวนตู้คอนเทนเนอร์มากกว่า 250 ล้าน TEU จะได้รับผลกระทบ มูลค่าการค้าจะหดหาย และเศรษฐกิจทั่วโลกอาจจะหนักกว่ากรณีเรือ Ever Given
เพราะการค้าระหว่างประเทศ อาศัยการขนส่งทางเรือเป็นหลัก
ทำไมต้องคลองไทย
เพราะคลองไทยจะเป็นเส้นทางการขนส่งทางน้ำของอาเซียน ที่จะเป็นการเตรียมการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหากช่องแคบมะละกาใช้การไม่ได้
(โปรดสังเกตว่า ผมใช้ข้อความว่า “การขนส่งทางน้ำของอาเซียน”)
เนื่องจากคลองไทยสร้างเป็นคลองคู่ขนานคือเป็นคลองเข้าหนึ่งคลอง คลองออกอีกหนึ่งคลอง มีความยาว 120-125 กิโลเมตร กว้าง 350 เมตร ลึก 30 เมตร
ลดเวลาในการผ่านช่องแคบมะละกาได้ 3 วัน โดยเริ่มต้นที่ตรังไปออกที่สงขลา ไม่ต้องเป็นกังวลทั้งเรื่องเรือจม เกยตื้น หมอก ตะกอน ความลึกและโจรสลัด
https://today.line.me/th/v2/article/Z6PKKQ
ดังนั้น หากจะหยิบยกเรื่อง “คลองไทย” มาอภิปรายแสดงความคิดเห็นจะน่าสนใจไม่น้อย โดยมองเรื่องสถานการณ์การค้าทางเรือของโลกเป็นประเด็นหลักและให้คลองไทยเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อเตรียมการรองรับเรื่องที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ภาคใต้ 14 จังหวัดและประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมาก
ผมไม่ได้คัดค้านการขุดคลองไทย เพียงแต่ได้เคยนำเสนอประเด็นที่พึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่งว่า หากจะขุดคลองไทยกันจริงๆ (ไม่ใช่พวกมากลากไป) ต้องพิจารณาเรื่องอะไรกันบ้าง หากประเด็นที่ผมนำเสนอตกผลึก เช่น เรื่องความมั่นคง สภาพแวดล้อม ผลประโยชน์ระหว่างภูมิภาคและระหว่างประเทศ ฯลฯ โดยมีวิธีการป้องกันและแก้ไขได้ ก็ควรจะต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งต้องไม่แต่งตั้งข้าราชการประจำเป็นประธาน แต่ต้องเป็นนักบริหารมืออาชีพที่เห็นเข้าใจประโยชน์ และความจำเป็นของการมีคลองไทยในอนาคต
ติดต่อ สอบถาม ใช้บริการ นำเข้า-ส่งออก คลิกที่นี่ หรือ โทร 0-2742-7851-5 / 0-2742-7858-60 หรือ อีเมล์ mks@ebcitrade.com
29 มีนาคม 2564
เกี่ยวกับผู้เขียน
*สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์-แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ชำนาญการด้านโลจิสติกส์ การค้าระหว่างประเทศและสิทธิประโยชน์ภาษีอากร