รัฐประหารเมียนมากับการค้าชายแดน การลงทุน และโลจิสติกส์
สถาบันวิจัยและพัฒนาความรู้ (Research and Knowledge Development Institute : RAKDI)
บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ)
การรัฐประหารในเมียนมาเมื่อตีสี่ของวันที่ 1 ก.พ.64 และประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี พร้อมกับแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดี ย่อมส่งผลกระทบต่อ การค้าชายแดน การลงทุน และระบบโลจิสติกส์ระหว่างไทยกับเมียนมา
การค้าชายแดน
ในปี 2563 (ม.ค.-พ.ย.) ไทยมีการค้าชายแดนกับเมียนมาใน 6 จังหวัด คือตาก กาญจนบุรี ระนอง เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ และแม่ฮ่องสอน โดยภาพรวม ไทยได้เปรียบดุลการค้าชายแดนจากเมียนมา ปี 2563 (ม.ค.-พ.ย.) ไทยส่งออกผ่านชายแดน 78,777.58 ล้านบาท นำเข้า 72,173.91 ล้านบาท จังหวัดที่มีการส่งออกมากสุดคือจังหวัดตาก (ม.ค.-พ.ย.63 เท่ากับ 57,228 ล้านบาท)
สินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของไทยคือเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำมันดีเซล ผ้าผืน ปูนซีเมนต์ รถมอเตอร์ไซค์และชิ้นส่วน การค้าชายแดนในปัจจุบันโดยเฉพาะในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จะเป็นการส่งออกสินค้าจากนักธุรกิจในอำเภอแม่สอดไปยังเมียวดีของเมียนมา เพื่อส่งไปเมืองย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์โดยรถบรรทุก และนำเข้าจากฝั่งเมียวดีเข้าไทยผ่านแม่สอด
ระบบการขนส่งสินค้าส่งออกและนำเข้าทางชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมาจึงใช้การขนส่งโดยรถบรรทุกปิ๊กอัพ รถ 6 ล้อ 10 ล้อ และรถเทรลเลอร์หรือรถขนส่งขนาดใหญ่
โดยจะเป็นการขนส่งสินค้าจากแม่สอดข้ามสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ในแม่สอดแล้วนำสินค้าเข้าคลังสินค้าในฝั่งเมียนมา ด้านพิธีการศุลกากรจะทำกันทั้งฝั่งไทยและฝั่งเมียนมา
ส่วนการส่งออกสินค้าไทยไปเมียนมาโดยทางเรือหรือทางเครื่องบินมีบ้าง แต่ไม่มากเท่ากับการขนส่งสินค้าข้ามชายแดน อย่างไรก็ตามภายหลังรัฐประหาร คาดว่าการนำเข้า-ส่งออก ทางเรือและการค้าชายแดนน่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก คณะรัฐประหารคงไม่อยากให้กระทบกับภาวะเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน ยกเว้นว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การนำเข้า-ส่งออกบางอย่างที่อาจจะมีผลกระทบกับสินค้าบางประเภท เช่น สินค้าประเภทยุทธปัจจัยหรือสินค้าที่ใช้ได้สองอย่าง (Dual Use) เช่น อาจจะใช้ในอุตสาหกรรมหรือใช้ในทางทหารได้ด้วย
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การค้าระหว่างไทยกับเมียนมาทั้งการนำเข้า-ส่งออก อาจจะต้องดูเป็นช่วงๆ แต่มีข้อน่าสังเกตว่าเมียนมาต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทย ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการครองชีพ
ในส่วนของการลงทุน คาดว่าคณะรัฐประหารน่าจะจับตาบางโครงการของต่างชาติที่อาจจะกระทบต่อความมั่นคงและระบบเศรษฐกิจของประเทศ เช่น โครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานหรือท่าเรือขนาดใหญ่ เช่น ท่าเรือทวาย หรือเมืองส่วยโก่กโกซึ่งห่างจากเมียวดี 5 กิโลเมตร ซึ่งจีนไปลงทุนไว้คาดว่าเป็นหมื่นล้านบาท
การค้าชายแดนด้านแม่สอดหรือด่านอื่นๆ ของไทยที่ติดกับชายแดนพม่า น่าจะไม่ได้รับผลกระทบ ยกเว้น Covid19 ที่อาจจะทำให้การค้าชายแดนด้านเมียนมาเงียบเหงาได้ อย่างไรก็ตามปัญหาชนกลุ่มน้อยที่มีบทบาทในเมียวดีซึ่งอยู่ตรงข้ามแม่สอด อาจจะกระทบกับคณะรัฐประหาร หากการเจรจาของทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกับความต้องการของแต่ละฝ่าย แต่คาดว่าทั้งสองฝ่ายต่างคงจะรักษาผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพราะฝ่ายรัฐประหารคงไม่อยากมีศึกสองด้าน ด้านหนึ่งคือการเจรจากับต่างประเทศและการดูแลกลุ่มต่อต้านในเมืองที่ใช้รูปแบบการขัดขืนแบบอารยะ อีกด้านหนึ่งคงจะพยายามให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ เพื่อลดภาระความเดือดร้อนและความกดดันของประชาชน การปล่อยให้เหตุการณ์ชายแดนสงบจึงดีกว่าทำศึกกับชนกลุ่มน้อย
นอกจากนี้ จากการพูดคุยกับนักธุรกิจชาวเมียนมาในย่างกุ้ง และนักธุรกิจไทยด้านนำเข้า-ส่งออก ในแม่สอด ต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า การค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมา น่าจะไม่ได้รับผลกระทบสักเท่าไหร่ เพียงแต่ระบบโลจิสติกส์ผ่านแดนอาจจะมีการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางเรือหรือทางเครื่องบินเป็นการขนส่งทางรถยนต์ผ่านชายแดนมากขึ้น
แต่ผู้สนใจเหตุการณ์โลก ก็ยังจับตาว่าสถานการณ์ในเมียนมาภายหลังรัฐประหารอาจจะไม่สงบราบรื่นสักเท่าไหร่ เพรานอกจากกระแสต่อต้านรัฐประหารจากพรรค NLD (National League for Democracy) แล้ว ยังอาจจะมี “ของแถม” จากต่างชาติ เข้าไปเป็นส่วนผสมเพื่อให้เกมการเมืองในเมียนมาเป็นไปตามความต้องการของแต่ละฝ่าย
ดังนั้น การค้าชายแดน ไทย-เมียนมา จึงยังคงมีอนาคตต่อผู้ส่งออกไทย
ข้อสังเกต
- การส่งออกของไทยไปเมียนมามีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2561-2563 อย่างไรก็ดีการลดลงของปี 2563 อาจจะมาจาก Covid19
- การนำเข้าจากเมียนมาเข้าไทยตั้งแต่ปี 2561-2563 มีทั้งที่เพิ่มขึ้นและลดลง
- สาเหตุการส่งออกที่ลดลง อาจจะเพราะ
3.1 นักลงทุนต่างชาติและไทยย้ายฐานการผลิตสินค้าไปลงทุนในเมียนมา เพราะค่าจ้างแรงงานถูกกว่า สินค้าหลายอย่างจึงนำเข้าจากไทยลดลง
3.2 สินค้าไทยที่ผลิตในเมียนมา นอกจากจะขายในเมียนมาแล้ว อาจส่งออกจากเมียนมามาไทย โดยใช้สิทธิ์ยกเว้นอากรนำเข้าที่ไทย
เรียบเรียงโดย
สถาบันวิจัยและพัฒนาความรู้อีบีซีไอ (Research and Knowledge Development Institute: RAKDI) บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ)