ค่าขนส่งสินค้าทางทะเลแพงเพราะตู้คอนเทนเนอร์ไม่พอใช้ ผู้ส่งออกไทยจะทำอย่างไร ?

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้ส่งออกนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศมีปัญหามากเรื่องค่าขนส่งทางเรือที่ปรับสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ บางสายเรือปรับมากกว่า 1-3 เท่า ทำให้ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก เดือดร้อน เข้าทำนอง “เคราะห์ซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น ไม่แลเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา”
คือเดือดร้อนจาก Covid19 ยังไม่พอ ยังถูกซ้ำเติมเรื่องค่าขนส่งทางทะเลที่ปรับสูงขึ้นอย่างมากอีก ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ขายของลำบาก

ทำไมค่าขนส่งทางทะเลจึงแพง ทั้งๆ ที่ตามสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันน่าจะถูก เพราะทั่วโลกซื้อขายน้อยลง
แต่ที่ค่าขนส่งทางทะเลหรือทางเรือแพงอย่างหูดับตับไหม้นั้น เพราะ

https://newsus.cgtn.com/news/2020-08-04/Australian-city-on-lock-down-amid-COVID-19-surge-SFFpWhGVgY/index.html

ตู้คอนเทนเนอร์ไม่พอใช้

อ้าว…แล้วทำไมไม่พอใช้

สาเหตุสำคัญเกิดจากโรคระบาด Covid19 ทำให้หลายๆ เมืองในหลายประเทศ Lockdown โรงงานผลิตสินค้าปิด การซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศน้อยลง การขนส่งสินค้าทางเรือจึงน้อยลง เรือจึงเข้าออกจากท่าเรือน้อยลง ตู้คอนเทนเนอร์ส่วนใหญ่อยู่ในท่าเรือหรือกระจัดกระจายไปตามบริษัทหรือโรงงาน รวมทั้ง ICD (Inland Container Depot) หรือสถานที่ที่เก็บตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้านำเข้า-ส่งออก โดยมีการปฏิบัติพิธีการศุลกากรและตรวจสอบสินค้าอยู่ใน ICD หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า สถานีขนส่งตู้คอนเทนเนอร์นอกเขตท่าเรือ เช่น ICD ลาดกระบัง

https://newsus.cgtn.com/news/2020-08-04/Australian-city-on-lock-down-amid-COVID-19-surge-SFFpWhGVgY/index.html

นอกจากนี้ ตู้คอนเทนเนอร์ยังอาจจะกระจายไปอยู่ตาม Truck Terminal หรือ DC (Distribution Center) หรือ Logistics Park (ซึ่งมีทั้ง Truck Terminal หรือ DC อยู่ในที่เดียวกัน)

         รวมๆ กันแล้วน่าจะประมาณ 30%

         ไม่มีใครตอบได้ว่าในโลกนี้มีจำนวนตู้คอนเทนเนอร์เท่าไหร่ แต่จากการประมาณการคร่าวๆ คาดว่าน่าจะมีระหว่าง 5-170 ล้านตู้ (ทั้งตู้ 20’ และ 40’)

แล้วทำไมยังไม่พอ ?

สาเหตุหลักๆ น่าจะเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

1. การส่งออกของประเทศต่างๆ ในโลกโดยเฉพาะจีน มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตั้งแต่กรกฎาคม 2563 เพราะจีนควบคุมโรค Covid19 ได้ พร้อมกับให้การสนับสนุนโรงงาน โรงงานต่างๆ ในจีนจึงเริ่มผลิตสินค้าและส่งออกจากจีนมากขึ้น เพราะเป็นการส่งออกก่อนประเทศอื่นๆ และมากกว่าด้วย
ในขณะเดียวกันโรงงานต่างประเทศในจีนก็เริ่มผลิตส่งออก
ประมาณการว่าการส่งออกสินค้าจากจีนไปอเมริกาเหนือในเดือนกันยายนปี 2563 เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่มีปริมาณมาก
ในขณะเดียวกัน โรงงานต่างๆ ในจีนเร่งผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกก่อนถึงวันชาติจีน 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันหยุดยาว ทำให้สินค้าส่งออกจากจีนไปต่างประเทศมีมากมาย คาดว่าประมาณ 900,000 ตู้
และเพราะจีนส่งออกมาก จึงมีการเช่าตู้คอนเทนเนอร์เปล่าไปใช้เพื่อการส่งออกด้วย จึงเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนและค่าขนส่งแพง
จีนจึงเป็นประเทศที่มีการนำเข้า-ส่งออก สินค้าที่นำหน้าประเทศอื่นในช่วง Civid19

ตู้คอนเทนเนอร์ที่อยู่ตามท่าเรือ โรงงาน ICD DC หรือ Logistics Park ทั่วโลกนั้น อาจกล่าวได้ว่า 7 ใน 10 เป็นสินค้าเข้า-ออก จากจีน ด้วยเหตุนี้ 12 บริษัทขนส่งทางเรือที่ใหญ่ที่สุดของโลกจึงมีจีนเข้าไปสอดแทรกอยู่ถึง 3 บริษัท จีนจึงเป็นประเทศอันดับ 3 ของโลกที่มีบริษัทขนส่งทางเรือใหญ่ที่สุดในโลก มีเรือเดินทะเลเพื่อการค้าขายคาดว่าไม่ต่ำกว่า 5,000 ลำ รวมทั้งเป็นประเทศอันดับหนึ่งในการส่งออกสินค้าไปทั่วโลก

2. การส่งออกของประเทศต่างๆ ในอาเซียน เช่น ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เริ่มกระเตื้องขึ้น จึงมีความต้องการตู้คอนเทนเนอร์

3. เนื่องจาก Covid19 สายเดินเรือจึงลดจำนวนเรือ ประกอบกับตู้คอนเทนเนอร์ไปกองตามสถานที่ต่างๆ ในโลก (ดังกล่าวแล้ว) ทำให้สายเดินเรือหาตู้ว่างไม่ได้หรือหาไม่ทัน ทางออกของสายเดินเรือคือลด Free Time และ Detention ลง เช่น ลด Free Time จาก 10 วัน เหลือ 5 วัน ลดจำนวน Detention จาก 10 วัน เหลือ 5 วัน (Free Time คือจำนวนวันที่สายเดินเรืออนุญาตให้ผู้นำเข้าสินค้าสามารถเก็บสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ได้ไม่เกินจำนวนวันที่กำหนด เช่น อาจจะ 5-10 วัน ถ้าเกินจากนั้นสายเดินเรือจะเก็บ Demurrage Charge ซึ่งจะแพงมาก ส่วน Detention คือจำนวนวันที่ผู้นำเข้าจะต้องส่งคืนตู้คอนเทนเนอร์ให้สายเดินเรือภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 3-5 วัน)

ถ้าผู้นำเข้าไม่คืนตู้คอนเทนเนอร์ตามที่สายเดินเรือกำหนด จะต้องถูกสายเดินเรือปรับหรือคิดเงินในจำนวนสูง

         ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอที่ชัดเจนอีกเรื่องหนึ่งคือต้นตอจากอเมริกา

เพราะตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือจะถูกส่งจากท่าเรือเข้าไปตามโรงงานในรัฐต่างๆ เมื่อจะต้องนำตู้คอนเทนเนอร์คืนสายเรือ จะเกิดติดขัดเพราะระบบเศรษฐกิจในอเมริกาไม่ดีเพราะ Covid19 มีการ Lock Down ปิดงาน เลิกจ้างพนักงาน จึงทำให้ไม่มีแรงงานในการขนย้ายและขับรถ รวมทั้งไม่มี Chassis (หรือที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า “หางลาก” เพื่อใช้วางตู้คอนเทนเนอร์) เพื่อขนส่งตู้ไปท่าเรือ ซึ่งตามปกติจะต้องคืนตู้คอนเทนเนอร์ให้สายเดินเรือภายใน 1-2 วัน แต่โรงงานต่างๆ ในอเมริกาคืนตู้คอนเทนเนอร์มากกว่า 1 สัปดาห์ สายเดินเรือจึงต้องใช้เวลามากกว่า 1-2 สัปดาห์ ในการนำตู้จากโรงงานกลับไปท่าเรือ ในขณะที่อียูก็มีความต้องการตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้น

         จากอุปสรรคต่างๆ ข้างต้น ทำให้ค่าขนส่งสินค้าทางเรือเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เช่น ตามปกติตู้ 40’ จากเอเชียไปลอสเองเจลลีส (LA) อเมริกาประมาณ US$2,000 แต่บางสายเดินเรือปรับเพิ่มขึ้นเป็น US$4,000

ค่าขนส่งทางเรือ ณ ปัจจุบัน (ธ.ค.63) ปรับขึ้นทุกเส้นทาง อย่างไรก็ตาม คาดว่าค่าขนส่งทางเรือที่แพงมากและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์คงจะคลี่คลายในต้นปีหน้า (ประมาณ มี.ค.64)

         ทางออกในเรื่องนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ ต้องพิจารณาว่าค่าขนส่งทางเรือที่สายเดินเรือหรือเอเย่นต์เรือเรียกเก็บจากผู้ประกอบการนั้น ถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่

ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก ต้องตรวจสอบว่าปริมาณนำเข้า-ส่งออก ว่ามีมากพอหรือไม่ ถ้ามีปริมาณมากพอน่าจะเจรจาต่อรองกับสายเดินเรือ (Volume Negotiation) เพื่อขอลดค่าขนส่ง

         ในส่วนของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งปริมาณการนำเข้า-ส่งออก มักจะเป็น LCL (Less than Container Load) หรือคือนำเข้า-ส่งออก ครั้งละไม่มาก (ไม่เต็มตู้) อาจจะต้องพิจารณาอัตราค่าขนส่งที่ระดับ Minimum หรือคือ  ไม่ว่าจะส่งสินค้าปริมาตรหรือน้ำหนักเท่าไหร่ ถ้าไม่ถึงน้ำหนักหรือปริมาตรขั้นต่ำที่สายเดินเรือกำหนด ก็จะต้องถูกเก็บค่าขนส่งที่ขั้นต่ำ เช่น ถ้าส่งสินค้าน้ำหนัก 1-5 ตัน จะถูกเก็บค่าขนส่งที่อัตราขั้นต่ำ 10,000 บาท แต่ถ้าน้ำหนักสินค้า 3 ตัน จะถูกเก็บที่ 10,000 บาท ดังนั้น แทนที่จะส่งสินค้า 3 ตัน น่าจะเปลี่ยนน้ำหนักเป็น 5 ตัน (ต้นทุนค่าขนส่งต่อ 1 หน่วยสินค้า จะถูกลง) เพื่อประหยัดค่าขนส่งหรือหารือกับลูกค้าให้ซื้อมากขึ้นเพื่อลูกค้าจะได้รับส่วนลด ส่วนผู้ส่งออกจะจ่ายค่าขนส่งถูกลง

         หรือทางออกอีกวิธีการหนึ่งคือ ผู้ส่งออกระดับ SMEs รวมตัวกันในการขนส่งสินค้าไปในตู้คอนเทนเนอร์เดียวกัน ส่งไปเมืองเดียวกันในต่างประเทศ เช่น รวมกันให้ได้ 4-5 ราย ให้น้ำหนักสินค้าไม่เกิน 18-20 ตัน เพื่อส่งไปโอซาก้า แล้วจองตู้คอนเทนเนอร์ 20’ 1 ตู้ นำค่าขนส่งตู้     คอนเทนเนอร์มาหารเฉลี่ยด้วยปริมาณน้ำหนัก จะได้ค่าขนส่งที่ถูกกว่าต่างคนต่างจองระวางเรือ

หากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัย โปรดสอบถามได้ที่ฝ่ายประสานงานการจองระวางเรือ  (คุณภัณฑิลา) บริษัท อีบีซีไอ จำกัด E-mail: pantila@ebcitrade.com

หรือเพจเฟสบุค EBCI บริการด้านโลจิสติกครบวงจร https://www.facebook.com/ebcilogistics

เรียบเรียงโดย

สถาบันวิจัยและพัฒนาความรู้อีบีซีไอ (Research and Knowledge Development Institute: RAKDI) บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ)

เกี่ยวกับผู้เขียน

*สายัณห์  จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์-แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ชำนาญการด้านโลจิสติกส์ การค้าระหว่างประเทศและสิทธิประโยชน์ภาษีอากร