ญี่ปุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนในอาเซียนหรือไม่ เมื่อโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา
ผมไม่คิดว่า ญี่ปุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนหรือการค้าระหว่างประเทศในอาเซียน แต่กลับจะเป็นประโยชน์กับการค้าการลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียน
เพราะอเมริกาในยุคโจ ไบเดน น่าจะมีนโยบายในการหาพันธมิตรทางการค้าควบคู่ไปกับการหาพันธมิตรทางการเมือง ซึ่งจะแตกต่างจากสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งจะเน้นการสร้างงานในประเทศและไม่สนใจในการหาพันธมิตรระหว่างประเทศมากนัก
โจ ไบเดน น่าจะมุ่งยกระดับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในรูปของพหุภาคีมากกว่าทวิภาคี (แต่ก็อาจจะเจรจาทวิภาคีกับบางประเทศ) เช่น อาจจะให้ความสำคัญกับ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) ซึ่งมี 21 เขตเศรษฐกิจ โดยมีอเมริกา จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย ออสเตรเลีย ในกลุ่มนี้ และอาจจะเข้าร่วม CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) ซึ่งมีสมาชิก 11 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย (อเมริกาเคยเป็นสมาชิกในกลุ่ม TPP เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ได้ยกเลิกการเป็นสมาชิก TPP ต่อมา 11 ประเทศในกลุ่ม TPP ได้ขับเคลื่อน TPP เป็น CPTPP)
จะเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในกลุ่มการค้าระหว่างประเทศทั้ง APEC CPTPP และยังเกี่ยวข้องกับอาเซียนผ่าน FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น แม้อเมริกาจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรที่ดีของอเมริกา ก็คงจะมีนโยบายลงทุนในอาเซียนและประเทศต่างๆ เหมือนเดิม และอาจจะขับเคลื่อนร่วมกับอเมริกาในการขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศผ่านกลุ่มการค้าต่างๆ มากขึ้น
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็จะต้องให้ความสนใจในการดึงดูดนักลงทุนชาวญี่ปุ่นให้เห็นประโยชน์และความสำคัญของการเป็น Logistics Hub ของไทยในอาเซียนให้มากขึ้น
เกี่ยวกับผู้เขียน
*สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์-แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ชำนาญการด้านโลจิสติกส์ การค้าระหว่างประเทศและสิทธิประโยชน์ภาษีอากร