เมื่ออเมริกา ตัดสิทธิ์ GSP ไทย แล้วประเทศไทย ควรทำอย่างไร?

ข่าวอเมริกาตัดสิทธิ์ GSP สินค้าไทย 231 รายการ โดยมีผลตั้งแต่ 30 ธ.ค.2563 ทำให้คนไทยโดยเฉพาะผู้ส่งออกให้ความสนใจกันพอสมควร

ทำไมต้องสนใจ?

เพราะสินค้าทั้ง 231 รายการที่ส่งออกจากไทยไปที่อเมริกา จะไม่ได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีศุลกากรที่อเมริกา ทำให้สินค้าทั้ง 231 รายการ มีต้นทุนการนำเข้าที่อเมริกาเพิ่มขึ้นหรือคือสินค้าไทยจะมีราคานำเข้าที่อเมริกาแพงขึ้น

GSP คืออะไร สำคัญอย่างไรกับประเทศไทย

GSP (Generalized System of Preferences) เป็นระบบที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรที่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้แก่สินค้าที่ผลิตและมีแหล่งกำเนิดในประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยการลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าแก่สินค้าที่อยู่ในข่ายจะได้รับสิทธิ์ โดยเป็นการให้แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ประเทศที่ให้ GSP จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ให้การลดหย่อนหรือไม่ยกเว้นก็ได้

ประเทศที่ให้ GSP กับประเทศต่างๆ มีหลายประเทศ เช่น อเมริกา กลุ่มอียู ญี่ปุ่น รัสเซีย แคนาดา ฯลฯ

ทำไมอเมริกาต้องตัดสิทธิ์สินค้าไทย

เรื่องที่อเมริกาตัดสิทธิ์ GSP สินค้าไทยนั้น ไม่ใช่เพิ่งจะทำ  การตัดสิทธิ์แต่ละครั้งมักจะเพื่อผลทางการเมืองหรือการค้าอย่างไรอย่างหนึ่ง

การตัดสิทธิ์ GSP ครั้งนี้ อเมริกาอ้างว่าไทยไม่เปิดตลาดให้เนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจากอเมริกานำเข้าไทย  

ไทยไม่เปิดตลาดให้เนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจากอเมริกาเข้าไทย…..จริงหรือ ?

คำตอบคือ….จริง

ทำไมไทยไม่เปิดตลาด

เพราะสารเร่งเนื้อแดงในหมูที่ส่งออกจากอเมริกามาไทยนั้น เป็นสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ ส่งผลข้างเคียงทำให้มีอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ บางรายมีอาการเป็นลม เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อหญิงมีครรภ์และยังเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง (หากมีการบริโภคเป็นจำนวนมาก) โดยประเทศไทย (ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์) ระบุว่าสารเร่งเนื้อแดงเป็นสารต้องห้ามใช้ผสมในอาหาร ตาม พรบ.ควบคุมอาหารสัตว์

อ่านบทความอย่างละเอียดเรื่อง สารเร่งเนื้อแดงในหมู ได้ที่นี่ https://www.the101.world/ractopamine-on-pork/?fbclid=IwAR1jTxgAZCEfodt7K7jPv4DRg3k1TPb9fGeBtnRX52VBzqHki8gxyf8Z3xw

ทำไมต้องใช้สารตัวนี้

เพราะการใช้สารเร่งเนื้อแดงตัวนี้ในหมู จะทำให้หมูมีเนื้อแดงมากขึ้น ลดการสะสมของไขมัน

สินค้าไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร

สินค้าทั้ง 231 รายการที่ผู้ส่งออกไทยขายไปที่อเมริกา จะได้รับผลกระทบเพราะจะต้องถูกเก็บอากรขาเข้าที่อเมริกา ทำให้ต้นทุนสินค้าไทยในอเมริกาสูงกว่าสินค้าของประเทศที่อเมริกาไม่ตัดสิทธิ์ GSP เช่น สูงกว่าสินค้าเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้าของไทย

ผลจากการถูกตัดสิทธิ์ GSP ครั้งนี้ หนักหนามั๊ย

หากมองในแง่ผลกระทบ แน่นอนว่าสินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบจริงมีเพียง 147 รายการ ต้องชำระอากรนำเข้าที่อเมริกาประมาณ 3-4% มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท แต่ก็ยังมีสินค้าหลายรายการที่ยังได้รับ GSP จากอเมริกา เช่น ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง เครื่องปรุงรส เลนส์แว่นตา ถังเชื้อเพลิง รถยนต์ ฯลฯ  

สินค้าอะไรบ้างที่จะได้รับผลกระทบ?

สินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น

  1. อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ
  2. พวงมาลัยรถยนต์
  3. ล้อรถยนต์
  4. กระปุกเกียร์
  5. กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก
  6. เคมีภัณฑ์
  7. เกลือ
  8. ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก
  9. หลอดและท่อทำด้วยยางวัลแคไนซ์
  10. อะลูมิเนียมหรือแผ่นยาง

ประเทศไทยจะทำอย่างไร

คงจะทำอะไรไม่ได้มาก เพราะเรื่อง GSP เป็นการให้ข้างเดียวและเป็นสิทธิ์หรือเป็นดุลยพินิจของผู้ให้ว่าจะให้หรือไม่ให้ ถ้าให้จะให้แค่ไหน

นอกจากเรื่องที่อเมริกาหาว่าไทยไม่เปิดตลาดหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจากอเมริกาเข้าไทยแล้ว คาดว่าในอนาคตอาจจะมีข้อกล่าวหาอื่นๆ ตามมาอีก เช่น เรื่องการรับรองสิทธิ์แรงงานในประเทศไทย การใช้แรงงานเด็กหรือเรื่องอื่นๆ ที่อเมริกาจะยกมาอ้างเพื่อตัดสิทธิ์ GSP ประเทศไทย

ทางออกหรือวิธีการแก้ไข

ผู้ส่งออกไทยต้องให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพและการส่งมอบสินค้าให้ทันความต้องการของผู้นำเข้าในอเมริกา ต้องพยายามลดค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เช่น ค่าระวางเรือ การลดราคาสินค้าบางส่วน การลดต้นทุนโดยการเลือกใช้สิทธิประโยชน์ภาษีอากรในอาเซียนหรือกรอบ FTA และการใช้สิทธิประโยชน์ภาษีอากรในประเทศไทยให้ถูกต้องเพื่อลดภาระค่าภาษีอากรในตัววัตถุดิบหรือสินค้า เช่น การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศโดยใช้สิทธิ์ยกเว้นอากรนำเข้าในประเทศไทย

หรือการใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีอากรในประเทศไทยให้ถูกต้อง เช่น การใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีอากรจาก BOI หรือ Free Zone การใช้สิทธิ์ขอคืนอากรตามมาตรา 29 การใช้สิทธิ์ขอรับเงินชดเชยเพื่อการส่งออก ฯลฯ

ประการสำคัญที่ต้องเตรียมตัวเพิ่มเติม

นอกจากวิธีการแก้ไขข้างต้นแล้ว ผู้ส่งออกไทยที่ได้รับผลกระทบจาก GSP แล้ว ผู้ส่งออกจะต้องเตรียมรับผลกระทบจาก FTA ในกรอบต่างๆ ที่คาดว่ากำลังจะเกิดขึ้นระหว่างไทย-อังกฤษ หรือไทย-อียู รวมถึง RCEP ด้วย ซึ่งคาดว่า RCEP จะประกาศใช้ในปี 2564

เกี่ยวกับผู้เขียน

*สายัณห์  จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์-แนชชั่นแนล จำกัด (อีบีซีไอ) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้ชำนาญการด้านโลจิสติกส์ การค้าระหว่างประเทศและสิทธิประโยชน์ภาษีอากร