เมื่อญี่ปุ่นย้ายฐานผลิตไปเวียดนาม อุตสาหกรรมไทยจะเป็นอย่างไร?
การปิดโรงงานพานาโซนิค 2 แห่ง ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ แล้วไปเปิดที่เวียดนาม ด้วยเหตุผลว่าเพื่อขยายฐานการผลิตเครื่องซักผ้า ตู้เย็น ที่ใหญ่ขึ้น ทั้งๆ ที่พานาโซนิคเปิดดำเนินธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2522
แม้จะเป็นการปิดเพียง 2 โรงงาน ในขณะที่อีก 18 โรงงาน ยังดำเนินธุรกิจตามปกติ
แต่…..ก็เป็นสัญญาณบอกเหตุว่านักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นกำลังมองประเทศไทยว่าเป็นแหล่งที่น่าสนใจต่อไปของอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าหรือไม่
สัญญาณบอกเหตุที่น่าสนใจต่อมาคือนายโยชิฮิเดะ สึกะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นบินตรงไปเจรจาการค้ากับเวียดนามและอินโดนีเซีย
คำถามที่น่าสนใจคือญี่ปุ่นไม่สนใจที่จะลงทุนในไทยแล้วหรือ ทั้งๆ ที่ไทยมี EEC (Eastern Economic Corridor) ซึ่งเป็นพื้นที่การลงทุนที่น่าสนใจที่สุดในอาเซียน และไทยยังเป็น Strategic Location ด้าน Logistics สำหรับอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็น Logistics Hub ของ CLMV และ GMS (Greater Mekong Sub-region)
นักวิเคราะห์ นักวิชาการ นักธุรกิจ นักลงทุนไทย หลายท่านเชื่อว่า “ค่าแรง” เป็นแรงผลักสำคัญที่ญี่ปุ่นออกจากไทยและเป็นแม่เหล็กสำคัญดึงอุตสาหกรรมญี่ปุ่นจากไทยไปเวียดนาม
บางท่านมองไปที่นโยบายการค้าการลงทุนของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นที่มุ่งส่งเสริมให้มีการลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นเพื่อนในอาเซียนที่เป็นคู่แข่งทางการค้าการลงทุนโดยตรงของไทย (Lovely Competitors) ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงเมียนมา ลาว และกัมพูชา
แต่ผมกลับมองว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ซึ่งทำงานคู่กับนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีคนก่อน น่าจะยังคงใช้ยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นซึ่งใช้มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 นั่นก็คือเน้นยุทธศาสตร์ภูมิเศรษฐศาสตร์ใหม่สำหรับเอเชีย เพื่อให้เกิดความได้เปรียบท่ามกลางการแข่งขันในภูมิภาค (Regionalism) ซึ่งยุทธศาสตร์ที่ว่านี้เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุน
หากเรามองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2000 ญี่ปุ่นทำการตกลงทางการค้าในกรอบต่างๆ มากมาย เฉพาะในปี 2015 มี 15 FTA และขยายเป็นพหุภาคีกับหลายประเทศ เช่น FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น TPP (Trans-Pacific Partnership) รวมทั้ง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นความตกลงทางการค้าที่มีขนาดตลาดใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดเศรษฐกิจรวมกัน 27.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 27.7% ของโลก มีมูลค่าการค้ารวม 11,545 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 29.4% ของมูลค่าการค้าโลก มีพลเมืองรวมกันมากกว่า 3.5 พันล้านคน คิดเป็น 45.3% ของประชากรโลก
ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นยังขับเคลื่อนด้านการช่วยเหลือในรูปของโครงสร้างพื้นฐาน (ก็คล้ายๆ กับ BRI: Belt and Road Initiative ของจีน) พร้อมกับให้ความร่วมมือด้านการพัฒนาธรรมาภิบาลของประเทศที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ
ดังนั้น ยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนนอกประเทศของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นก็คงจะใกล้เคียงกับนายกรัฐมนตรีคนก่อน แต่อาจจะเพิ่มน้ำหนักมากขึ้นไปที่ประเภทของอุตสาหกรรมที่จะไปลงทุนในประเทศต่างๆ ในอาเซียน พร้อมๆ กับพิจารณาผลประโยชน์ทางการเมืองควบคู่กันไป
แล้วทำไมญี่ปุ่นไม่สนใจไทย ?
ผมเชื่อว่าญี่ปุ่นยังคงสนใจที่จะลงทุนในไทย เพราะตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI โดยนักลงทุนญี่ปุ่นในปี 2562 และ BOI ออกบัตรส่งเสริมแล้ว มีมากถึง 201 โครงการ มูลค่าการลงทุน 73,218 ล้านบาท ในขณะที่ตัวเลขปี 2563 (ม.ค. – มิ.ย.) BOI ออกบัตรส่งเสริมให้นักธุรกิจญี่ปุ่น 108 โครงการ มูลค่าการลงทุน 67,902 ล้านบาท แต่การที่ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตน่าจะเกิดจากเวียดนามมีเรื่องและข้อเสนอที่น่าสนใจมากกว่าไทย
เรื่องแรก
ค่าจ้างแรงงานของเวียดนามถูกกว่าไทยมาก (ข้อมูลล่าสุด ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำรายวันของเวียดนามเท่ากับ 180-260 บาท ในขณะที่ของไทยวันละ 313-336 บาท)
เรื่องที่ 2
อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามมีอย่างต่อเนื่อง
ช่วงปี 1990-2016 GDP ของเวียดนามโตมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน รายได้เฉลี่ยของประชากรปี 2017 เท่ากับ 71,486 บาทต่อปี มูลค่า Market CAP ของตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่ง ในเวียดนามเท่ากับ 2.4 ล้านล้านบาท ตลาดการค้าเวียดนามใหญ่กว่าประเทศไทย ต้นทุนต่อหน่วยการผลิตต่ำกว่าไทย
เรื่องที่ 3
สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรที่ให้แก่นักลงทุน เช่น การยกเว้นค่าภาษีอากรการนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งไทยเองก็มีข้อเสนอที่น่าสนใจเช่นกัน
เรื่องที่ 4
เวียดนามสร้างเมืองใหม่ที่ชานเมืองฮานอยเป็น Smart City โดยเวียดนามจับมือกับบริษัทญี่ปุ่นประมาณ 20 บริษัท ลงทุนด้วยงบ 4,210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใช้ IOT (Internet of Things) สนับสนุนการควบคุมและประหยัดพลังงาน ในขณะที่ไทยก็มี EEC
เรื่องที่ 5
ผลของสงครามการค้าระหว่างอเมริกา-จีน ทำให้สินค้าญี่ปุ่นที่ผลิตในจีนได้รับผลกระทบอย่างมากเพราะจะถูกอเมริกากีดกันหรือต้องชำระภาษีอากรนำเข้าที่อเมริกาในอัตราสูง
รัฐบาลญี่ปุ่นจึงส่งเสริมให้บริษัทญี่ปุ่นในจีนย้ายฐานการผลิตไปอาเซียน ซึ่งบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากเลือกลงทุนในเวียดนามและอินโดนีเซีย
สินค้าญี่ปุ่นที่ผลิตในเวียดนามและส่งไปขายที่อเมริกาจะไม่ได้รับผลกระทบด้านภาษีอากรนำเข้าที่อเมริกา และยังได้ประโยชน์จาก EVFTA (EU-Vietnam Free Trade Agreement) ด้วยการได้รับยกเว้นภาษีอากรที่นำเข้าที่ EU ในครึ่งปีหลังของปี 2020 แต่ไทยยังไม่ได้รับประโยชน์ด้านนี้จากอเมริกาและ EU มากนัก หรือน้อยมากเมื่อเทียบกับเวียดนาม
เรื่องที่ 6
Logistics & Supply Chain
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการลงทุนในเวียดนาม (Foreign Direct Investment: FDI) ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเวียดนาม ดังนั้น ระบบ Supply Chain (การสนับสนุนการผลิตซึ่งกันและกันและระบบ Logistics ในเวียดนาม) จึงเป็นเหตุจูงใจให้มีการลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมระบบ โลจิสติกส์และ Supply Chain ของประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากกว่า
เรื่องที่ 7
ความมั่นคงทางการเมือง
เวียดนามเป็นประเทศที่มีประชากรเกือบ 100 ล้านคน มากเป็นอันดับ 9 ของเอเชีย และอันดับ 15 ของโลก มีการปกครองในระบบสาธารณรัฐสังคมนิยม ภาพลักษณ์ระหว่างประเทศ มีความมั่นคงทางการเมือง มีความโปร่งใส (ดัชนี CPI (Corruption Perception Index) ในปี 2019 เวียดนามอยู่อันดับที่ 96 ในขณะที่ไทยอยู่อันดับ 101 จาก 180 ประเทศ) มีนโยบายที่ส่งเสริมการค้าการลงทุนที่ชัดเจน แน่นอน แม้จะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี นโยบายก็ไม่เปลี่ยนแปลง
เรื่องที่ 8
คุณภาพผู้นำประเทศและประชากร
จากสภาพของประเทศที่ต้องต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราชจากการปกครองของต่างชาติ การทำสงครามกับฝรั่งเศส อเมริกา มายาวนาน ประกอบกับมีผู้นำประเทศที่เสียสละเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริงและต่อเนื่อง ทำให้เวียดนามสามารถรวมพลังประชากรของประเทศในการมุ่งมั่นสร้างตนเองและสร้างอนาคตของประเทศได้อย่างน่าสนใจ**
นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรส่วนใหญ่ของเวียดนามอยู่ในวัยทำงาน ในปี 2017 มีประชากรในวัยทำงานมากกว่า 56 ล้านคน ในขณะที่ประชากรวัยทำงานของไทยระหว่างปี 2563-2583 ลดลงจาก 43.2 ล้านคน เป็น 36.5 ล้านคน และไทยมีปัญหาเรื่องคนสูงอายุมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ประมาณ 20% ของประชากรไทยเป็นผู้สูงอายุ
เรื่องที่ 9
Life Style ของชีวิตในเขตเมือง
วิถีชีวิตในเขตเมืองของเวียดนามมีความเป็นสากลมากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ ของไทย เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ในเขตเมืองของไทย น่าจะจูงใจชาวต่างชาติได้มากกว่า โดยเฉพาะการพักผ่อนในยามค่ำคืน
แล้วอุตสาหกรรมไทยจะเป็นอย่างไร ?
ผมยังมีความเชื่อว่าประเทศไทยยังมีความน่าลงทุนในสายตาของนักธุรกิจและนักลงทุนชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีระดับสูง เพียงแต่เขาจะพิจารณาเป็นประเภทอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าประเทศไทยต้องกลับมาพิจารณาปัจจัยต่างๆ ว่าอะไรเป็นจุดแข็งที่จะนำไปสร้างโอกาสเพื่อดึงดูดนักลงทุนไทยและนักลงทุนญี่ปุ่น อะไรเป็นจุดอ่อนและอุปสรรคต่อการดึงดูดนักลงทุน เพราะนักลงทุนไทยไปลงทุนในเวียดนามไม่น้อยเช่นกัน จากข้อมูลของสำนักงานการค้าต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ เมื่อ 9 มิ.ย.59 พบว่านักลงทุนไทยสนใจด้านการควบรวมกิจการหรือเข้าไปถือหุ้น (M&A) โดยมีมากถึง 105 บริษัท เป็นอุตสาหกรรมการผลิต 53 บริษัท เกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูป/ประมง 18 บริษัท บริการ 34 บริษัท
ในส่วนของนักลงทุนไทย คงต้องทบทวนเช่นกันว่าธุรกิจการบริการหรือสินค้าที่ผลิตหรือทำอยู่นั้น ต้องมีการปรับระบบ รูปแบบ เทคนิค และปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์อย่างไรเพื่อสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ โดยต้องมีเทคโนโลยี ระบบโลจิสติกส์และบุคลากรเป็นปัจจัยสำคัญ และที่สำคัญ เจ้าของกิจการ นักบริหาร นักลงทุน ให้ความสำคัญหรือมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิประโยชน์ภาษีอากรจากกรอบความตกลงทางการค้าแค่ไหน บริหารและใช้เป็นหรือไม่ รวมถึงมีกลยุทธ์ในด้านการบริหาร Logistics การใช้เทคโนโลยีและการบริหารทรัพยากรมนุษย์เพื่อสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันมากน้อยเพียงใด
ประเด็นสำคัญโดยเฉพาะนักการเมืองและกลไกภาครัฐต้องมีบทบาทส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้แก่นักลงทุนญี่ปุ่นและนักลงทุนไทยอย่างจริงใจ โปร่งใส ในการเอื้อและจูงใจนักลงทุน
ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสนใจอย่างจริงจัง พร้อมจะจับมือขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ไปด้วยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำหรือตัวใครตัวมัน หรือมุ่งผลประโยชน์ส่วนตนหรือผลประโยชน์พวกพ้อง
อย่างไรก็ตาม หากสงครามทางการค้าระหว่างอเมริกากับจีนยังคงมีต่อไป ความได้เปรียบในด้านสิทธิประโยชน์ภาษีอากรระหว่างประเทศของเวียดนามยังได้เปรียบกว่าไทย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีต่อเวียดนามในด้านความมั่นคงทางการเมือง ความมุ่งมั่นในด้านความโปร่งใส คุณภาพของผู้นำประเทศและประชากรมากกว่าไทย หากเป็นเช่นนั้น ก็เป็นที่แน่นอนว่านักลงทุนญี่ปุ่นจะมองเวียดนามเป็นหลักในการลงทุน ผลิตสินค้า และไม่เฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นเท่านั้น แต่หมายรวมถึงนักลงทุนชาติอื่นๆ รวมถึงนักลงทุนไทยด้วย (โปรดดูตารางปัจจัยเปรียบเทียบ)
8 ตุลาคม 2563